ลองจับ Lenovo ThinkPad Tablet 2

ได้มีโอกาสลองจับตัว Lenovo ThinkPad Tablet 2 อยู่สักพัก (ประมาณ 30 นาที) เลยเอามาให้ดูกันสักเล็กน้อยครับ

ตัว Lenovo ThinkPad Tablet 2 นั้นมาพร้อมกับ CPU แบบ SoC (System on a chip) รุ่น Intel Atom Z2760 SoC ดูอัลคอร์ความเร็ว 1.8GHz  (1MB cache) โดยมี VGA on chip ของ PowerVR HD SGX545 GFx (12 bit, 1080p video @30fps, DX9) ซึ่งเจ้า SoC จะคล้ายๆ ของค่าย ARM ที่รวมเอาทุกอย่างไว้ในตัวชิป CPU (หลังๆ CPU Core Architecture ของ Intel ก็เริ่มรวมหลายๆ อย่างลงใน CPU มากขึ้น) ทำให้ประหยัดพลังงาน และประหยัดพื้นที่ด้วย

ซึ่งเจ้าตัวนี้ มาพร้อม RAM ชนิด LPDDR2 ขนาด 2GB ความเร็ว 800 MHz และมีความจุ storage ที่ 64GB แบบ eMMC สามารถใส่เพิ่มได้ผ่าน micro-SD card โดยใส่เพิ่มได้สูงสุดถึง 64GB และยังสามารถต่อ external HDD แบบ USB 2.0 ผ่านช่องต่อ USB 2.0 แบบ full-size เพื่อเพิ่มพื้นที่ได้ด้วย (จากที่ทดสอบต่อ WD Passport 500GB ได้สบายๆ)

WP_20130311_065 

ในด้านของฝาหลังนั้น จากที่สัมผัสดูแล้วคิดว่าเป็น Polyurethane Soft-touch Coatings คล้ายๆ กับฝาหลังตัวเครื่อง ThinkPad โดยตัวจอภาพนั้นเป็นจอ LCD ขนาด 10.1" ตัว panel เป็น IPS ขนาดความละเอียดที่ 1,366×768 พิกเซล (HD 720p) ที่อัตราส่วน 16:9 ความสว่างที่ 400 nits (500:1 contrast ratio) แต่ไม่ได้ใช้ Corning Gorilla Glass แบบตัวก่อน โดยเป็นหน้าจอสัมผัสรองรับสัมผัสได้ 5 นิ้ว

ตัวเครื่องนั้นหนาเพียง 9.8mm ซึ่งบางกว่าตัว Lenovo ThinkPad Tablet รุ่นเก่าถึง 30% (ตัวเก่าหนาที่ 14.5mm) จากที่บางลง ทำให้น้ำหนักลดลงมาอยู่ที่ 590g หรือเบากว่าLenovo ThinkPad Tablet รุ่นเก่ากว่า 23% อีกด้วย (ตัวเก่าหนัก 759g) ซึ่งน้ำหนักนี้รวมปากกาแล้ว โดยจากที่จับมา ผมมองว่าเบาจริง ถือว่าทำน้ำหนักมาได้ดีสำหรับจอภาพที่ขนาด 10.1”

สำหรับงานประกอบนั้น ตัวเครื่องนั้นหาช่องน็อตสกรูให้เห็นชัดเจนไม่เจอ ในส่วนอื่นๆ การประกอบระหว่างรอยต่อต่างๆ ดูแนบสนิทแน่นหนาดีมาก สำหรับโครงสร้างภายในนั้น Lenovo ได้ออกแบบภายในแบบเดียวกับ ThinkPad Notebook หรือเรียกว่า Roll cage design

WP_20130311_038 WP_20130311_041

ในด้านของตัวปากกานั้น ThinkPad Tablet 2 ใช้ Wacom digitiser แบบเดียวกับที่เคยใช้กันมาก่อนหน้านี้ โดยมีที่เก็บแบบสอดเข้าไปในเครื่อง โดยตัวปากกามีขนาดเล็กกว่าตัวเดิมอยู่มาก สำหรับการเขียนต่างๆ ทำได้ลื่นไหลดี โดยตัวจอภาพแบบสัมผัสเมื่อทำงานร่วมกับปากกาสามารถเอามือวางบนจอภาพแล้วเขียนแบบบนกระดาษปรกติได้เลย เพราะตัว Windows 8 นั้นฉลาดเพียงพอที่จะแยกแยะการสัมผัสได้ (ดูได้จากวิดีโอล่างสุด)

สำหรับตัวกล้องนั้น ThinkPad Tablet 2 มีมาให้ทั้งกล้องหน้าและหลัง โดยกล้องหลังให้มา 8MP พร้อม ไฟแฟลชแบบ LED รองรับการถ่ายวิดีโอ HD 720p และสำหรับกล้องหน้ามีความละเอียด 2.0MP ซึ่งสำหรับภาพถ่ายนั้น ไม่ได้ลองถ่ายมาดูครับ เพราะเวลาไม่พอที่จะได้ลอง

 WP_20130311_020 

WP_20130311_024 WP_20130311_063 

ตัวจุดเชื่อมต่อต่างๆ ให้มาค่อนข้างครบ ตัวแรกคือ  full-size USB 2.0 พอร์ต ที่อยู่ด้านข้างเครื่อง ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ USB พอร์ต ปรกติบนโน้ตบุ๊กหรือเดสก์ท็อปเลย สามารถต่อ HDD เข้าไปเพื่อเพิ่มพื้นที่ได้ แต่วันที่ลองยังไม่ได้ลองต่อเมาส์และคีย์บอร์ดลอง แต่คิดว่าได้ เหมือนกัน

ส่วนต่อมาคือ micro-USB 2.0 ซึ่งทำหน้าที่แค่ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่เท่านั้น เหตุผลที่ใช้ micro-USB เพราะหาพอร์ตในการมาชาร์จไฟได้ง่ายตามมาตรฐาน European Union

ส่วนต่อมาคือภาพและเสียง ที่ให้ mini-HDMI พอร์ต และ headphone/microphone combo jack มาให้ โดยมี Noise-cancelling microphone มาให้พร้อมเพื่อทำงานคู่กับเว็บแคมขนาด 2MP ด้านหน้า

เมื่อเป็นแท็บเล็ตสำหรับทำงานย่อมต้องมี dock connector มาให้แน่ๆ ซึ่ง ThinkPad Tablet 2 ก็มีมาให้เลย ทำให้สามารถต่อได้เพิ่มมากขึ้นทั้ง USB พอร์ต ที่ได้มากขึ้น หรือต่อเมาส์และคีย์บอร์ดได้อย่างง่ายๆ รวมไปถึงมี Folio Case with Keyboard ทำตลาดมาพร้อมด้วย

สำหรับปุ่มรอบๆ เครื่องนั้น เท่าที่จับและเจอก็มี ปุ่ม Windows, ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง, ปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่มคงค่าการหมุนจอภาพ และปุ่มรีเซทเครื่อง

การเชื่อมต่ออื่นๆ ก็มีมาให้ครบในตัวเหมือนโน้ตบุ๊กเครื่องนึงเลยก็ว่าได้ทั้ง NFC, GPS, compass, ambient light sensor, proximity sensor, sensor hub, 802.11 a/b/g/n, Bluetooth 4.0 และสำหรับรุ่น 3G จะมาพร้อม WWAN Gobi 4000 (รองรับ LTE /HSPA+)

WP_20130311_051

WP_20130311_061 WP_20130311_043

จากการที่ได้นั่งเล่นมานั้น โดยรวมถือว่าทำงานได้รวดเร็วดีมาก ด้วยจำนวนคุณสมบัติที่ให้มานั้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการนำไปใช้งานด้านเอกสารต่างๆ ที่ใช้ตัวซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช้ทรัพยากรระบบมากนัก ถ้านำไปใช้พวกแต่งรูป รีทัชรูป ตัดต่อวิดีโอ หรือเล่นเกม ก็ดูจะโหดร้ายเกินไปสำหรับคุณสมบัติที่ให้มา (อาจพอได้ แต่พื้นที่ลงซอฟต์แวร์คงไม่พอ รวมไปถึง RAM ที่มีมาให้แค่ 2GB ท่าทางจะไม่ไหว) ซึ่งส่วนตัวถ้าเอาไปใช้งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ ดูแลจัดการระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กร หรือแม้แต่เขียนบทความแล้วก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานได้พอเหมาะกับงานแนวๆ นี้

ในด้านของขนาดจอภาพ 10.1” นั้น โดยรวมแล้วเฉยๆ เพราะส่วนตัวสนใจขนาดความละเอียดของจอภาพมากกว่า ซึ่งให้มา 1,366×768 พิกเซล เท่ากับ Lenovo ThinkPad T420 ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเมื่อใช้งานแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเล็กแต่อย่างใด (ตัวหนังสือเล็กลงไป แต่โดยส่วนตัวแล้วก็อ่านได้สบายตาปรกติดี)

ความบางและน้ำหนัก อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าทำออกมาได้ดี งานประกอบเรียบร้อยดีมาก มีพอร์ตมาให้ครบตามที่เราอยากได้ในแท็บเล็ตโดยทั่วไป

ในส่วนของแบตเตอรี่ขนาด 30Wah ที่เป็นแบบ lithium polymer นั้นยังไม่ได้ทดสอบความยาวนานของการใช้งาน อันนี้คงต้องขอผ่านไปก่อน

กล่าวสรุปโดยรวมแล้ว ถือว่าผ่านสำหรับการเป็น Tablet เพื่อนำไปใช้ทำงานมากกว่าเล่น ก็ต้องรอดูว่า app บน Windows 8 จะมีมามากแค่ไหน จนสามารถทดแทนตัวแท็บเล็ตยี่ห้ออื่นๆ ได้ แต่สำหรับ desktop app แล้วนั้น ถือว่ารองรับได้ทั้งหมดที่คนส่วนใหญ่ใช้งานได้สบายๆ

WP_20130311_033 WP_20130311_034

วิดีโอทดลองเล่นและสัมผัสการใช้งาน Lenovo ThinkPad Tablet 2

รอดูรีวิวเต็มๆ อีกที (ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่ครับ คงต้องต่อคิวเครื่องเค้า ><”)

ช่วยทำให้ Windows Phone 8 มันทำงานได้ดีกว่านี้หน่อยเหอะ สาวกขอร้องหล่ะ

จาก Windows Phone เจ้าตายแล้ว ของ @nuuneoi

ในฐานะที่เล่นเองและพัฒนา App บน Windows Phone 8 บอกว่าเห็นด้วยกับเนยแฮะ คือแม่ง Nokia ปล่อย App มาเยอะมาก ช่วยให้ Windows Phone 8 ดูดีขึ้นเยอะมาก คือลองนึกภาพ Windows Phone 8 ไม่มี Nokia ดูซิครับ แล้วจะรู้ว่ามันจะไม่มีอะไรเลยมากแค่ไหน แต่ดูเหมือนกับว่า Microsoft เองก็ทำเหมือนลาพักร้อนหลังจากเปิดตัวและปล่อย update แรกออกมา ข้อผิดพลาดบ้าบอหลายอย่างก็ไม่แก้ไขเยอะนะ ดูจาก forum หลายที่ก็บ่นหลายอย่าง แต่แล้วก็เงียบหายไปราวกลับว่าจบงานแล้ว แก้บัครอบแรกจบก็จบงานไป แล้วเหมือนจะไปทำอะไรอย่างอื่นต่อไม่ได้สนใจอะไรพวกนี้ต่อ

คือส่วนตัวมองว่าตลาดมือถือตอนนี้มันสู้กันเดือดมาก คือเวลา 2-3 เดือนที่หายไปมันคือการออกรุ่นใหม่ของ OS สายอื่นไปเลย แล้วแบบนี้ Windows Phone 8 มันจะไปตามชาวบ้านเค้าทันได้ยังไง อย่าลืมว่าอีกไม่กี่เดือนก็ WWDC ของ Apple แล้วนะ แถม Google I/O รออยู่ อย่าลืมว่า iOS/Android มีอะไรออกมาใหม่แน่ๆ คือจะลอกเค้ามาหรือใส่อะไรมาเพิ่มมันก็เรื่องนึง แต่ที่แน่ๆ “ช่วยทำให้ Windows Phone 8 มันทำงานได้ดีกว่านี้หน่อยเหอะ สาวกขอร้องหล่ะ”

Web Feed ไม่เคยตาย เพราะจริงๆ มันไม่เคยเกิดในกลุ่มคนหมู่มากต่างหาก

เมื่อสัก 5-6 ปีก่อน คนทั่วไปเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับ Web Feed โดยใช้พวก RSS format ที่พัฒนามาตั้งแต่ 1995 หรือ ATOM format ที่พัฒนามาตั้งแต่ 2005 ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่นำเอาข้อมูลเว็บออกมาเป็น format ที่ให้ตัวโปรแกรมอ่านหรือคัดกรอง โดยสามารถนำเนื้อหาเหล่านั้นไปรวมกันในบริการหรือซอฟต์แวร์ที่จะทำหน้าที่ดึงตัวข้อมูลนั้นๆ มาแสดงผลแบบรวมศูนย์ที่เดียว ซึ่งถูกใช้งานในหมู่คนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เชิงลึกหรือพวก Geek เป็นหลัก และเริ่มระบาดเข้าสู่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปอยู่บ้างในช่วงปี 2005 เป็นต้นมา

RSS_button

แน่นอนว่าตัว Web Feed นั้นเป็นการนำลักษณะการใช้งานของ XML ซึ่งมีมาตรฐานอย่าง RSS และ ATOM ซึ่งทำงานคล้ายๆ กับ Web Services ที่ดูแสนยุ่งยาก (พวก SOAP Web Services) โดยเจ้า Web Services นั้นเอง ตัวนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างต้องศึกษาโดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการเชื่อมต่อระบบแบบไม่จำกัดแพลตฟอร์ม ซึ่งแนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้งานให้รูปแบบที่เข้าใจง่ายขึ้นเพื่อหวังว่าจะสามารถนำพาตัวเนื้อหาที่อยู่มากมายของบริการตัวเองส่งตรงถึงคนหมู่มากมายได้ง่ายที่สุด เพราะด้วยความที่ Web Feed มีรูปแบบไม่ซับซ้อน สร้างได้ง่ายพอๆ กับการสร้าง HTML จึงถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาในการสร้าง Web Services แบบง่ายๆ และปูทางไปสู่การสร้างระบบที่ซับซ้อนต่อไป และโดยส่วนตัวแล้วนั้น มันเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบาย REST Web Services ที่มองว่าเข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้ว เพราะ format นั้นคล้ายกันพอสมควร

2013-03-16_183145

แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมาหลายปี มาตรฐาน Web Feed ก็อยู่ในมุมของมันเงียบๆ ทั้ง RSS 2.0 และ ATOM 1.0 ไม่ได้เด่นดังอะไรมากมาย Web Browser ต่างๆ ที่เคยใส่คุณสมบัติของการอ่านหรือเรียกใช้ Web Feed ก็เริ่มถอดออกจากหน้า User Interface ที่เรียกหาได้ง่าย และย้ายไปใส่ไว้ในมุมหนึ่งของตัวซอฟต์แวร์ อาจเพราะมันเข้าใจยาก คนใช้งานยังมีพฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลงมาก และการมาของ Social Networking เองก็ทำให้การเสพข่าวสารนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่าน News Feed ของ Social Networking เองเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดจาก Twitter, Facebook และ Google+ จึงเป็นสิ่งที่ผมบอกว่า “Web Feed ไม่เคยตาย เพราะจริงๆ มันไม่เคยเกิดในกลุ่มคนหมู่มากต่างหาก” เพราะระหว่างที่ Web Feed ยังคงอยู่ในระดับที่ผู้ใช้ทั่วไปนั้นสัมผัสมันได้ง่ายๆ บน Web Browser ก่อนหน้านี้นั้น ผู้ใช้งานต้องพบกับรูปแบบของ Web Feed ที่หลากหลาย นักพัฒนาเว็บนำ Web Feed ไปใช้งานในรูปแบบที่ผิดมาตรฐานบนความไม่เข้าใจตัว Web Feed อยู่เยอะ รวมไปถึงตัว Web Feed เองเริ่มมีมาตรฐานมากขึ้นเพื่อรองรับตัว Media และรูปแบบการนำไปใช้ที่เริ่มหลากหลายด้วย (จากแค่เป็นตัวกระจายข้อมูลแบบตัวอักษรอย่างเดียว ก็เอาไปรองรับ Photo Gallery หรือระบบ Video) ทำให้ตัว Parser ตัว Web Feed ต้องรับภาระมาตรฐานที่หลากหลาย และข้อผิดพลาดจากความไม่เข้าใจที่ดีพอของนักพัฒนาเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานนั้นแย่ลง ซึ่งจากที่เจอสำหรับตัว Web Feed ที่คนไทยนั้นพัฒนาและนำมาให้บริการก็คือ การใช้ TIS-620 ใน Web Feed แบบที่รูปแบบไฟล์เป็น Unicode (มาตรฐานแนะนำ UTF-8) การไม่ใช้ CDATA ในส่วนเนื้อหาของ Summary ที่เป็น HTML จนทำให้ตัว Parser นั้นทำงานไม่ได้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้รวมๆ กัน ทำให้การนำไปใช้นั้นเริ่มยุ่งยากสำหรับคนที่เริ่มต้นใช้งานมากเลยทีเดียว

ในด้านของตัวเว็บเองนั้น การใช้ Web Feed ในการส่งข้อมูลออกไปในรูปแบบเนื้อหาแบบเต็ม (Full Content) ทำให้ผู้ใช้งานไม่เข้ามาในเว็บเพื่ออ่านเนื้อหาเหล่านั้น แต่อ่านจากตัว Reader ซึ่งทำให้ตัวเว็บนั้นสูญเสียรายได้จากค่าโฆษณาไป ถึงแม้จะสามารถกำหนดให้จำกัดขนาดเนื้อหาที่เผยแพร่ได้ แต่นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการดูแลพอสมควร เพราะการใช้ระบบอัตโนมัติในการตัดเนื้อหาอาจไม่เพียงพอและอาจทำให้เนื้อหาขาดความน่าสนใจได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว การทุ่มเทปรับปรุงเนื้อหาให้สั้นกระชับเหมาะกับ Twitter, Facebook และ Google+ ไปเลยน่าจะคุ้มค่ากว่าบน Web Feed เพียงอย่างเดียว

unnamed

สุดท้ายทิศทางของ Web Feed ในอนาคตนั้น จะถูกนำไปใช้งานในรูปแบบของการกระจายเนื้อหาของเว็บให้เข้ากับตัวซอฟต์แวร์อ่านข่าวต่างๆ เช่น Google Currents, NewsBlur, Pulse หรือ Flipboard แทน โดยเน้นการให้เจ้าของเนื้อหาเข้ามาสมัครและปรับตัว Web Feed ที่ตัวเองมีให้เหมาะกับตัวซอฟต์แวร์เหล่านั้นแทน เพื่อให้การแสดงผลนั้นเข้ากับตัวซอฟต์แวร์แต่ละตัวให้ได้มากที่สุดเพื่อประสบการณ์ในการอ่านตัวเนื้อหาที่ดีที่สุดแทนการให้ผู้ใช้เข้าไปแต่ละเว็บเพื่อเพิ่มตัว Web Feed เข้ากับตัวซอฟต์แวร์เองโดยตรง

เราจะจดจำนายตลอดไว้ …. เลิก “ออนเอ็ม” กันได้แล้ว

ตามเวลาประเทศไทย ตอนนี้ Windows Live Messenger หรือ MSN Messenger เดิม คงใช้งานไม่ได้แล้ว…

เราจะจดจำนายตลอดไว้ …. เลิก “ออนเอ็ม” กันได้แล้ว

Windows Live Messenger was discontinued, 2013
MSN Messenger was renamed to Windows Live Messenger, 2005 – 2013
MSN Messenger was released 1999 to 2006

wlm

เดินต่อไป “ตอบโจทย์ประเทศไทย”

ผมมีความเห็นว่า ควรดำเนินรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ทาง TPBS ต่อไปตามเดิม และไม่ควรมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง

โดยผมมองในหลักคิดว่า คนไทยมีสมองเพียงพอที่จะรับฟังและตัดสินใจเองได้ เราควรเคารพสิทธิ์การแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากที่ได้รับชมมานั้น รายการก็ดำเนินมาได้ด้วยดีบนคำพูดอย่างสุภาพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีอยู่แล้ว