ประโยชน์ของไฟล์ Digital Camera RAW File (เท่าที่คิดออก)

Digital Camera RAW File หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไฟล์ RAW ในกล้อง Digital SLR นั้นถือเป็นการบันทึกข้อมูล "ดิบ" ที่ได้จาก Sensor ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลที่มีขนาดข้อมูล Color depth หรือ Bit depth ที่ระบบสี 12 bpp (bits per pixel) หรือ ระบบสี 14 bpp (ไล่เฉดสี 1 สีได้ 12bits เท่ากับ 4,096 เฉดและ 14bits เท่ากับ 16,384 เฉด) โดยที่จำนวน bit ของระบบสีนั้นขึ้นอยู่กับกล้องว่าใช้ Sensor แบบใด (แพงหรือถูกด้วย) และเมื่อเทียบกับ 1 pixel เท่ากับระบบสี 8 bpp ของ JPEG ก็จะเห็นได้ว่าความแตกต่างกันมีเยอะมาก (ไล่เฉดสี 1 สีได้ 256 เฉด)

แต่เมื่อเอามาคิดในระบบการแสดงผลของสีในธรรมชาติโดยเทียบจาก JPEG นั้นใน 1 pixel ของระบบสี กับ 1 pixel ของระบบการแสดงผลของสีนั้นประกอบไปด้วยแม่สีของแสง (spectrum primaries) ที่มี 3 สี (3 channel) คือ แดง (Red) เขียว (Green) น้ำเงิน (Blue) หรือเรียกย่อๆ ว่า สี RGB ครับ ซึ่ง 1 pixel มี 3 สีมาผสมกันให้เกิดสีต่าง ๆ ในธรรมชาติที่มีความหลากหลาย นั้นหมายความว่า 256 (R) x 256 (G) x 256 (B) ให้จำนวนการไล่เฉดสี RGB ได้ทั้งหมด 16,777,216 เฉดสี หรือ 8 bpp ในระบบ RGB นั้นจะได้จำนวนสี RGB คิดเป็นบิตที่ 8 bpp x 3 color (RGB) ก็คือ 24bits นั้นเองครับ

แล้วถ้าลองมาคิดต่อในแบบ RAW ก็จะได้

RAW 12bits

4096 x 4096 x 4096 ให้จำนวนการไล่เฉดสี RGB ได้ทั้งหมด 68,719,476,736 เฉดสี

( 12 x 3 = 36bits )

RAW 14bits

16384 x 16384 x 16384 ให้จำนวนการไล่เฉดสี RGB ได้ทั้งหมด 4,398,046,511,104 เฉดสี

(14 x 3 = 42bits)

จากตัวอย่างข้างต้นทำให้เราเห็นความแตกต่างของจำนวนข้อมูลอย่างชัดเจนจนทำให้คุณภาพของข้อมูลภาพนั้นแตกต่างกันด้วยเช่นกัน (มองที่คุณภาพของไฟล์ภาพ ไม่ใช่ความสวยงามของภาพ) ซึ่งจะเห็นผลตอนเราจำเป็นต้องนำมาแต่งภาพที่ต้องการความสมบูรณ์ของข้อมูลมาก ๆ

อีกอย่าง JPEG เป็น lossy compression ทำให้ข้อมูลที่ได้มีการสูญเสียจากการนำไปประมวลผลจากตัวกล้องเอง เพื่อให้ได้ภาพที่ปรุงแต่งตามการตั้งค่าของผู้ผลิตหรือตัวผู้ใช้เอง แล้วทำการบีบอัดรูปภาพให้ได้เล็กลง ซึ่งจะเอากลับมาปรับแต่งต่อยากมาก ๆ เพราะด้วยจำนวนข้อมูลที่น้อยกว่าหลายเท่าตัวนั้นเอง แต่การถ่าย RAW ไฟล์ก็ต้องแลกกับจำนวนการถ่ายช็อตที่ต้องการความต่อเนื่องได้ลดลง เพราะด้วยจำนวนข้อมูลที่ใหญ่มากของ RAW ทำให้การส่งข้อมูลระหว่างกล้องกับ Memory เพิ่มมากขึ้น แต่ก็พอจะแก้ไขด้วยการใช้ Memory ที่มีความเร็วสูงๆ ได้เช่นกันครับ

อีกข้อดีของการใช้ไฟล์ RAW คือระบบการประมวลใน Computer มีความสามารถในการคำนวนและทำงานได้ดีกว่า Processor ในกล้อง ประกอบกับการปรับแต่งที่เหมาะสมกับสิ่งที่อยากได้ให้ได้มากที่สุดโดยผู้ใช้เอง ซึ่งถ้าอยากเปลี่ยนแปลงค่าต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ เช่น White Balance ที่ปรับได้ดั่งใจ เปลี่ยนแปลงโดยไม่สูญเสียคุณภาพของภาพไป หรือ Exposure Value ที่ให้เราดึงค่ากลับมาได้อีก +-1 Stop เป็นอย่างน้อย ๆ (เช่นภาพด้านล่าง)

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการถ่ายรูป DSLR แล้วใช้ RAW น่าจะเหมาะกับคนที่นำภาพมาปรับแต่งต่อในภายหลัง และในสถานะการณ์ที่เราไม่มีเวลามาใส่ใจกับ White Balance และ Exposure Value มากนัก (ในกรณีที่เราต้องถ่าย under ลงไปอีกหน่อยเพื่อให้ภาพไม่เบลอก็จำเป็น ไม่งั้นไม่ได้ภาพก็น่าเสียดาย)

แต่ไม่ใช่ว่าการถ่ายแบบ RAW จะช่วยได้ทั้งหมด เพียงแต่ทำให้เราสามารถนำไฟล์ภาพที่ได้ถ่ายนั้นเอามาปรับแต่งได้มากกว่าเดิมจากที่ JPEG ทำได้เท่านั้น ซึ่งหลายทั้งมวลนั้นเป็นเรื่องของคนถ่ายรูปเป็นหลัก ที่ต้องทำคุณภาพของรูปภาพนั้นดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เสียก่อน

คิดซะว่าถ่าย RAW ก็เหมือนถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มนั้นแหละครับ เพียงแต่ว่าดีหน่อยตรงที่ถ่ายแล้วเห็นเลย แต่ไฟล์รูปเราก็ต้องเอามาทำการล้าง แล้วก็มาตกแต่งในห้องมืด (ทำผ่าน GIMP) แล้วค่อยอัดภาพทีหลัง (แปลงด้วย RAW Converter เป็น JPEG) อะไรแบบนั้นครับ จะไม่รวดเร็วแบบ JPEG ที่ถ่ายแล้วใช้ได้เลยอะไรแบบนั้น (อาจจะแต่งบางตามสมควร)

แต่อย่านำมาสับสนกับการแสดงผลในจอภาพนะครับ เพราะจอภาพในปัจจุบันนั้นแสดงผลที่ 32bits (RGB) ซึ่งจะเป็น 16,777,216 สี ที่ 24bits ส่วนอีก 8 bits ที่เหลือเป็นเรื่องของการโปรงแสงของสี (degree of transparency) ครับ โดยภาพที่ตามนุษย์เห็นนั้นสามารถไล่เฉดสีได้จะอยู่ที่ประมาณ 16-24bits ครับ ไม่แน่ใจข้อมูลจำคราวๆ ครับ

ปล. ถ่ายเบลอ ถ่ายหลุดโฟกัส อย่างงี้ต่อให้ถ่าย RAW ก็ไม่ได้ช่วยอะไร อันนี้มันอยู่ที่คนถ่ายล้วนๆ แล้วหล่ะครับ

16592172

16592369 

ผิดพลาดหรือต้องการเพิ่มเติมก็เสนอความคิดเห็นได้เลยนะครับ ศึกษามาเดือนกว่าๆ เลยเอามาสรุป ๆ ไว้