Smartwatch กับตลาดที่ไม่กว้างอย่างที่คิด

ว่ากันตรงๆ ตลาด smartwatch มันก็ทรงๆ เงียบๆ มาสักพักแล้ว คือตัวเลือกมี ว้าวได้ แต่ใช้ไปนาน ๆ จะรู้ว่ามันก็ทำได้เท่าที่มันควรทำได้ประมาณหนึ่ง

ส่วนตัวใช้ smartwatch อย่าง Pebble Classic มา 1-2 ปี (ถ้าคำนวณไม่พลาด) แรกๆ ก็อัดความสามารถด้วยการใส่แอปลงไปเยอะๆ ควบคุมมือถือโน้น-นี่ได้มากๆ แต่สุดท้าย ก็ถอดออกเหลือแค่ watchface, แอปพื้นฐานจำพวกควบคุมแอปฟังเพลง, ดูสภาพอากาศวันนี้, รับข้อความ-แจ้งเตือน แล้วก็ activity tracking เพียงแค่นั้น ส่วนพวกอะไรเยอะๆ เอาออกไปหมดเลย เพราะมันใช้งานแล้วมันไม่สุด เพราะสุดท้ายก็ต้องหยิบมือถือมาใช้อยู่ดี ซึ่งก็พบว่า เออ smartwatch มันก็ทำได้ประมาณนี้ก็คงพอแล้วแหละ

เพราะถ้าใส่อะไรลงไปมาก ๆ เราหยิบจับใช้งานมันบ่อย ๆ มันก็ใช้งานได้น้อยวันลง อย่างปรกติใช้งานแบบดูบ้างอะไรบ้างนิดๆ หน่อย ก็ได้จำนวนวัน 4-7 วันกับจอภาพขาวดำก็ถือว่าไม่แย่ แต่หากเอาให้จำนวนวันมากระดับเป็นเดือนนี่คงยาก และถ้าใช้จอสีมีความละเอียดเยอะ ๆ ก็อยู่ได้วันต่อวันแค่นั้น ซึ่งมันก็กลายเป็นลำบากคนใช้งานแทน ขนาดผมใช้ Pebble Classic ชาร์จทุกๆ 4-5 วัน ยังลืมชาร์จอยู่บ่อยๆ ชวนหงุดหงิด แล้วคิดถึงบางรุ่นที่ต้องชาร์จทุกวัน เราก็รู้สึกหงุดหงิดแทนแน่ๆ

แล้วมามองอีกมุมว่า ที่มันทรงๆ เงียบๆ คงเพราะตลาดมันก็ไม่กว้างมากพอ ผู้เล่นในตลาดเยอะ แถมต้องไปตบตีกับตลาดนาฬิกาเดิมอีก เพราะบางคนมีนาฬิกาตัวโปรดแพง ๆ อยู่แล้ว แล้วคนเรามีแค่มือซ้าย-ขวา แถมใส่นาฬิากาก็ควรใส่แค่เรือนเดียว ไม่เหมือนมือถือที่พก 2-3 เครื่องก็ยังดูไม่แปลกเท่าไหร่ เผลอๆ พื้นที่ sport band ยังมีให้เล่นมากกว่าเลย เพราะใส่นาฬิกาซ้าย ใส่ sport band ขวายังพอรับได้มากกว่าใส่นาฬิกาซ้าย-ขวา

สุดท้ายในด้านราคา ตัว smartwatch มันก็ไม่ถูกด้วย Pebble เข้าไทยก็โดดไป 8-9 พันบาทโน้น ต้องรอสอยตอนลดราคา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงยี่ห้ออื่นๆ เกือบหมื่นหรือหลักหมื่นขึ้นทั้งนั้น สรุปเก็บตังซื้อมือถือดีกว่า

ขั้นตอนการติดตั้งภาษาไทยบน Pebble firmware 3.0 ใน Pebble Classic และ Pebble Steel

Pebble Classic และ Pebble Steel สามารถติดตั้ง Pebble firmware 3.0 พร้อมรองรับภาษาไทยได้ง่ายขึ้น ด้วยขั้นตอนตามด้านล่างนี้

หมายเหตุ, อ้างอิงจาก iOS

1. ลบแอพ Pebble Smartwatch และ forgot device ใน Bluetooth ใน Setting ของ iOS ให้เรียบร้อย

2. ลงแอพ Pebble Time บน iOS Device

3. ทำการ pair device ใหม่ตามขั้นตอนของแอพ

4. ทำการอัพเดท firmware 3.0 ผ่านแอพตามปรกติ ตั้งค่าต่างๆ ให้เรียบร้อย จะ factory reset ตัว Pebble หรือไม่ก็ได้

5. เข้าไปที่ https://pittaya.com/thai-language-on-pebble-time/ ทำการดาวน์โหลด “Thai language pack เวอร์ชัน 0.3 (2015.06.29)” จากลิ้งค์ แน่นอนว่ามันจะดาวน์โหลดไม่ได้ จะขึ้นหน้า thai_03.pbl

6. เลือก action menu ของ browser (ปุ่มลูกศรชี้ขึ้นที่มุมขวามือบน) แล้วเลือก Open In …

7. เลือก Copy to Pebble Time เสร็จแล้วมันจะโยนเข้าแอพ Pebble Time แล้ว Install new language เป็น thai_03 ให้เราบน Pebble ของเราให้เอง

แค่นี้ก็จบแล้วสำหรับการติดตั้งภาษาไทยบน Pebble firmware 3.0 บน Pebble Classic และ Pebble Steel