WebKit != W3C

ผมนั่งงงว่า เมื่อไม่กี่ปีก่อนตอน IE6 คนใช้เยอะ ทุกคนหวังกับ W3C จะมาช่วยทำให้มันดีขึ้น เรียกร้องให้ใช้ Mozilla Firefox ที่เป็น Gecko Engine ที่ทำตาม W3C และ IE รุ่นใหม่ๆ ที่ Microsoft พยายามทำ Trident Engine ตัวใหม่ๆ ตาม W3C และในที่สุด IE10 ก็ทำตามมาตรฐาน W3C ได้ดีมากๆ รวมไปถึง Apple Safari และ Google Chrome ที่ใช้ WebKit Engine ที่ทำตาม W3C เช่นกัน

มาวันนี้ ทุกค่ายทำตาม W3C เป็นหลักแล้ว มีการสนับสนุน ออกคำแนะนำต่างๆ มากมาย และข่าวล่าสุด Opera ประกาศทิ้งเอนจิน Presto เปลี่ยนไปใช้ WebKit/Chromium ทั้งหมด ทำให้ค่าย Engine หลักในการพัฒนาตัว Render หน้าเว็บเหลือเพียง 3 Engine หลัก และทั้ง 3 ค่ายพยายามอย่างมากที่จะทำตาม W3C ทั้งหมด

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือ Developer วันนี้บอกว่า “ขอ WebKit ค่ายเดียวแล้วกัน ง่ายดี!!!”

ผมก็นั่งงงว่า อ้าว แล้วยังไงต่อดี แล้วเมื่อก่อนหวังกับ W3C ไว้ทำไมเมื่ออดีต สรุปทุกคนก็ติด loop ตัวเองซินะ แค่เปลี่ยนจาก IE6 มาเป็น WebKit แค่นั้น ><”

ปล. จะบอกว่า IE6 มันของ Microsoft มันก็ใช่ แต่ตอนนี้ทุกค่ายพยายามที่จะทำตามมาตรฐาน Open Stanard คือ W3C ก็ควรจะทำตามอันนี้หรือเปล่า ส่วน Engine ตัวไหนมันก็อีกเรืองหนึ่งหรือเปล่า อย่าลืมกรณี Java กับ MySQL ซิครับเหล่ามิตรรัก Developer ทุกท่าน ยังเจ็บไม่จำกันอีกเหรอ ><“

มาตรฐานเปิดทำไมถึงเพิ่งเริ่มได้ไม่นานนี้

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจนะ แต่พอได้อ่านเยอะๆ ได้คุย ได้พบกับคนที่เข้าไปร่วมร่างมาตรฐานพวกนี้อยู่บ้างแล้วก็เริ่มจะเข้าใจ และรู้สึกถึงความจำเป็น และผลประโยชน์มหาศาลในการทำมาตรฐานเปิดเหล่านี้ในอนาคต มันเป็นเรื่องธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มาตรฐานเปิดแต่ละอย่างกว่าจะออกมาได้ใช้เวลานานมากๆ ทีเดียว แต่ผลสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือทุกกลุ่มของสังคมนั้นแหละ

ปัจจัยที่ทำไมไม่ทำเสียตั้งแต่ตอนนั้น คงเพราะการเริ่มต้นพัฒนาในอดีต มันไม่ได้มีการติดต่อประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ บริษัท หรือประเทศที่เกี่ยวข้องกันมากนัก แถมด้วยความที่อยู่ห่างไกลกันมาก บางประเทศคนละมุมโลก และกว่าที่มนุษย์จะพัฒนาการ ในการเดินทาง กว่าจะทำให้ข้อมูลส่งไปและกลับได้รวดเร็ว กว่าจะคุยกันรู้เรื่องอีก กว่าจะส่งของเอาไปทดสอบ จนเอาไปค้าขายแลกเปลี่ยนกัน มันไม่ได้ทำได้สะดวกสบายและรวดเร็วอย่างปัจจุบัน

ดังนั้นนวัตกรรมต่างๆ วิธีคิด มาตรฐาน แนวทางการใช้งานและส่วนใช้งานที่เกี่ยวข้องกับคนที่ใช้งาน ซึ่งมันก็รวมถึงประเพณี วัฒนธรรม ความคุ้นชิน ผลประโยชน์ ฯลฯ ก็ได้พัฒนาจากอดีต จนขึ้นสู่ขีดสูงสุดจนยาก หรือไม่สามารถกำหนดเป็นสากลได้อย่างง่ายดายนัก

แต่โชคดีที่หลายๆ อย่างก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ในยุคใหม่ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตเรามากขึ้น การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น ทำให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เริ่มมุ่งมาตรฐานเปิดกันตั้งแต่เริ่มต้น จนเป็นการรวมกันเป็นสากล อย่างการมีสมาคม ชมรม สหพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อความร่วมมือกัน

เพราะฉะนั้น มันก็ไม่แปลกที่ต่อไปนี้การทำมาตรฐานอะไรสักอย่างนึงเพื่อใช้ในวงกว้างเราคงได้เห็นสิ่งที่เป็นการถกเถียงคะคานกันจนกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกๆ กลุ่มผลประโยชน์สามารถนำไปใช้กันในการแข่งขันกันอย่างเสรีได้มากขึ้น