บอกเล่าเรื่องราวจาก KBank Meet & Talk with Blogger เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

อาจจะดูนานไปเสียหน่อย เพราะงานนี้จัดกันเล็กๆ 6 ธันวาคม 2555 แต่ก็เขียนสรุปไว้แล้ว แต่ว่าไม่ได้เอามาขัดเกลาให้ดี ตอนนี้ก็ได้เวลาเสียทีแล้ว

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ทางธนาคารกสิกรไทยใช้คำว่า digital banking แทน internet banking ด้วยเหตุผลว่า บางอย่างนั้นไม่ได้ทำธุรกรรมผ่าน internet โดยตรง เช่น K-ATM, K-CDM หรือ K-Mobile Banking จึงเป็นเหมือนคำที่ใช้พูดรวมๆ ให้เข้าใจในภาพรวมเดียวกัน

ในงานวันนั้นทางผู้บริหารก็ได้กล่าวให้ข้อมูลโดยอ้างอิงจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้ digital banking ทั้งหมดกว่า 8 ล้านบัญชี โดยธนาคากสิกรไทยมีฐานลูกค้าคิดเป็น 4.6 ล้านบัญชีหรือ 60% ของทั้งหมด

โดยทางผู้บริหารได้กล่าวเสริมต่ออีกว่า ตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยมีช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์คิดเป็น 50% จากทั้งหมด โดยได้พัฒนาระบบการรับชำระเงิน หรือ payment platform ที่ในขณะนี้มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% และยังมีช่องทางสำหรับเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าผ่านทางเว็บบอร์ดอันดับ 1 ของประเทศไทยอย่าง Pantip.com และ Social Network อย่าง Facebook และ Twitter โดยช่องทาง KBank_Live นั้นมีคนกด like ใน Facebook กว่า 340,000 ราย

ในวันนั้นก็ได้มีการพูดคุยเรื่องของแคมเปญอย่าง New Possibility Happens KBank Digital Banking โดยมุ่งไปที่เรื่องราวของการทำธุรกรรมทางการเงินครบวงจรได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังได้พูดถึงแนวโน้มของการทำธุรกรรมในโลก digital หลังจากนี้ในอีก 3 ปีว่ามี 4 เรื่องด้วยกัน นั้นคือ

  • Social Media – การเข้าถึงกลุ่มคนใน internet ที่อยู่กับในชุมชนออนไลน์ต่างๆ
  • Localized Marketing – การเข้าถึงกลุ่มคนที่เจาะจงลงไปในด้านความชอบ ความต้องการเฉพาะที่ลึกมากขึ้น รวมไปถึงความแตกต่างทางพื้นที่
  • Mobile – การเข้าถึงกลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตที่กำลังจะมาแทนการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ
  • Commerce – เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ทั้ง 3 ตัวข้างต้นมาได้ครบ การซื้อขายสินค้าต่างๆ จะเข้าถึงได้ง่ายแบบทุกที่อย่างจริงจัง

สุดท้ายก็พูดถึงเรื่องของ Lifestyle Banking ที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่อยากใช้บริการของธนาคารนั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน digital banking ที่มีอยู่ โดยคาดการณ์ว่าจะเติมโตในปี 2556 อีก 30% หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีผู้ใช้กว่า 6.5 ล้านบัญชีให้ได้

ในตอนท้ายของงานก็ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ digital banking อยู่พอสมควรด้วยกัน เป็นคำถามนอกรอบที่เกี่ยวกับแนวทางของการทำธุรกรรมใหม่ๆ ในอนาคตของธนาคารโดยทั่วไป

ทาง KBank ตอนนี้มีช่องทางใหม่ๆ ในการใช้งาน Digital Banking หลากหลายมาก โดยเมื่อต้นก่อนได้เปิดตัวกับ NFC กับทาง Nokia และ AIS ไปก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนว่าเป็นการเปิดตัวที่เน้นการเป็นผู้นำทางการตลาดเป็นหลัก แน่นอนว่าทาง KBank ต้องการทำตลาดจริงจังแม้จะยังไม่เกิดก็ตาม แต่คิดว่าในอนาคตกลุ่มคนที่ใช้ NFC จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าจะให้รอให้คนใช้ในด้านอื่นๆ เยอะๆ ก่อนแล้วลงมาเล่นในตลาดนี้อาจจะไม่ทันต่อการแข่งขันได้ การทดลองตลาดไปในช่วงเริ่มต้น ทำให้เห็นมุมมอง และช่องทางใหม่ๆ ในการนำไปใช้ได้ดีและมากขึ้นด้วย

สำหรับส่วนของ Credit Card หรือ SmartCard Reader ที่ใช้ทำงานร่วมกับระบบ Smartphone นั้นตอนนี้ทาง KBank ก็มีแนวคิคที่จะพัฒนาและเปิดให้บริการกับผู้ที่สนใจเร็วๆ นี้เช่นกัน

สำหรับคำถามในด้านของช่องทางเกี่ยวกับ Digital Banking อื่นๆ ก็ได้แก่

ข้อกำหนดของรหัสผ่านนั้นทาง KBank พยายามที่จะแนะนำผู้ใช้ให้ตั้งรหัสผ่านอย่างรัดกุมและเข้าถึงได้ยาก แต่อยู่บนฐานที่สามารถจดจำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การเขียนรหัสผ่านบนกระดาษหรือเครื่องมืออื่นๆ ในการช่วยจดจำ โดยทาง KBank ให้ความเห็นว่า การพยายามให้มีข้อกำหนดมากมาย นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายการมีข้อกำหนดของรหัสผ่านมากมาย ทำให้รหัสผ่านนั้นๆ ไม่ได้เป็นรหัสผ่านที่เป็นความลับมากนัก กลับกลายเป็นการเขียนรหัสผ่านบนกระดาษแล้วเก็บหรือแปะไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รอเพียงผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เพราะฉะนั้น การให้ความรู้และทำให้ผู้ใช้งานผ่าน Digital Banking ตระหนักถึงความจำเป็นในการตั้งรหัสผ่านที่รัดกุมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยความสมัครใจเป็นที่ตั้ง

ในด้านความปลอดภัยด้วย OTP นั้นทาง  KBank ได้เพิ่มเติมระบบในส่วนของรับชำระสินค้าและบริการลงไปแล้วหลังจากที่มีในส่วนของการโอนเงินระหว่างบัญชีและการเพิ่มบัญชีใหม่ๆ ลงในระบบ เพื่อเพิ่มความปลอดกัยมากขึ้นไปอีก

ทาง KBank ได้ตระหนักว่าในตอนนี้การโจมตีใหม่ๆ นั้นเพิ่มมากขึ้น การใช้ Phishing นั้นเริ่มเป็นที่แพร่หลาย การส่งอีเมลแจ้งลูกค้าและออกข่าวทำให้คนระมัดระวังตัวกันมากขึ้นและได้ผลดี และอาศัยการป้องกันด้วยการสังเกตจาก SSL/CA ที่มีในการตรวจสอบได้ง่าย แต่ตอนนี้การโจมตีด้วย MItB (Man In the Browser) กลับเป็นภัยใหม่ที่ป้องกันยากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเป็นการโจมตีแบบลักษณะคล้ายๆ Trojan horse แต่เป็นแบบฝั่งตัวคล้ายๆ Proxy คอยดักจับ ปลอมแปลง และบันทึกข้อมูลไว้อยู่บนเครื่องของเรา แล้วค่อยส่งข้อมูลไปยังเครื่องรับข้อมูลปลายทางเพื่อเก็บข้อมูลที่ดักจับได้อีกชั้นหนึ่ง โดยการโดน MItB แบบนี้แม้แต่ SSL/CA ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ เพราะ SSL/CA จะ Valid ตลอดเวลา เพราะโดยปลอมแปลงตั้งแต่ชั้นการดึงข้อมูลเริ่มแรกแล้วนั้นเอง วิธีการป้องกันคือการติดตั้ง Software ที่มีการตรวจจับการติดต่อระหว่างเครื่องและ Web Browser ต่างๆ ปรกติจะอยู่ในชุด Software Internet Security และ AntiVirus สมัยใหม่ที่ทำงามร่วมกันระหว่าง Web Browser จะช่วยป้องกันได้ดีขึ้น

จากทั้งหมดในงาน Meeting นี้ส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยในเชิงของการใช้งาน Digital Banking เป็นหลัก ทั้งในด้านการใช้งานทั่วไปและด้านความปลอดภัยในการใช้งานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอนาคตคงมีแนวทางในการเข้าถึงบริการและความปอดภัยในการใช้งานด้าน Digital Banking ที่ปลอดภัย รัดกุมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานตกเป็นเหยื่อผู้ไม่ประสงค์ดี

แน่นอนว่าต่อให้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยมากมายแค่ไหนในฝั่งผู้ให้บริการ แต่ถ้าผู้ใช้งานยังคงไม่ตระหนักในเรื่องนี้ก็ยากที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยต่อการถูกฉ้อโกง รวมไปถึงการขโมยเงินผ่านระบบ Digital Banking ออกไปจากบัญชีของเราแน่นอน

สุดท้ายในด้านการสนับสนุนและบริการลูกค้าผ่านทางช่องทาง @KBank_Live และ facebook.com/KBankLive นั้นจะเป็นทีม Social Network เฉพาะของทางฝั่ง Marketing เอง สำหรับงานด้านการสนับสนุนและบริการลูกค้าผ่านช่องทางใน Pantip.com นั้นจะเป็นทีมอีกทีมหนึ่งที่เป็นส่วนของ Call Center ซึ่งอยู่กันคนละทีมกัน

WP_20121206_005

WP_20121206_013 WP_20121206_011