รีวิว Nitecore USN4 Pro for Sony NP-FZ100

ด้วยความที่ผมใช้กล้อง Nikon มาเป็นสิบปี ซื้อกล้องมาทีไร ได้แท่นชาร์จแยกมาด้วยเสมอ แต่พอได้ Sony ก็ช็อคตรงที่มันไม่มีที่แท่นชาร์จให้ ต้องซื้อแท่นชาร์จแยก คือตอนแรกนึกว่าคนขายเค้าไม่ได้ให้มา แต่กลัวเสียฟอร์ม ก็เปิดคู่มือดูก่อนว่า ในกล่องมันให้มาไหม ซึ่งไม่ได้ให้มาจริงๆ ด้วย

กลายเป็นว่า ถ้าจะชาร์จแบตต้องเสียบกับกล้องแทน ก็แบบ เอ่อ ไม่ชิน แล้วปรกติด้วยความที่ซื้อกล้องมามักซื้อแบตสำรองก้อนที่ 2 อยู่เสมอ และการมีแท่นชาร์จก็ช่วยเรื่องการสลับชาร์จได้ง่ายกว่ามาก รวมไปถึงการเก็บรักษากล้องในตู้กันชื้นไปเลย แล้วเอาแค่แบตออกมาชาร์จแยกก็สะดวกกว่า

ทีนี้ พอไปเช็คราคาเครื่องชาร์จของ Sony โดยตรงก็ช็อคเพิ่มเข้าไปอีก เพราะราคาแพงระดับ 3,2xx บาท ก็เลยเป็นที่มาของการหาที่ชาร์จทางเลือกแทน

ซึ่งก็มาจบที่ Nitecore USN4 Pro (for Sony NP-FZ100) ในราคาไม่ถึง 900 บาท แถมชาร์จได้ 2 ช่องพร้อมกันอีก

เบื้องต้น มันเป็นที่ชาร์จที่รองรับ input แบบ USB-C บนมาตราฐาน QC 2.0 รองรับ input แบบ 5V 2.0A หรือ 9V 2.0A ฉะนั้นสายชาร์จมือถือทั่วไป ที่เป็น PD/QC และกำลังวัตต์ 18-20W ก็ใช้งานกับแท่นชาร์จนี้ได้ทันที ขอให้รองรับ input V/A ตามที่ตัวแท่นชาร์จรองรับก็เพียงพอ

จุดสำคัญ ที่ผมชอบมาก คือมีจอภาพแสดงสถานะการชาร์จของแต่ละช่องว่ามันจ่ายไฟให้แต่ละช่องเท่าไหร่แบบ real time แล้วบอกสถานะว่าชาร์จเต็มแล้วหรือยังแบบชัดเจน ซึ่งสะดวกมาก

โดยรวมแรกเริ่มในการใช้งานก็ประทับใจดีมาก แต่ยังไงก็รอดูยาวๆ อีกทีว่าจะเป็นยังไง ✌️

ลาแล้ว DSLR Nikon สวัสดี Mirrorless Sony

กล้องตัวเก่า Nikon D7200 ซื้อมาใช้ 14 มิถุนายน 2017 จุดประสงค์เอาไว้ถ่ายไอดอล และ 10 กันยายน 2017 ก็จัด Tamron SP 70-200mm f/2.8 Di VC USD มาเพิ่มด้วยจุดประสงค์เดียวกัน 😅

ด้วยความที่ใช้กล้อง Nikon D7200 มานาน 6-7 ปีแหละ หลัง ๆ ไม่ไหว เริ่มโฟกัสวืดบ่อยจนเซง ก็เลยหากล้องตัวใหม่ ซึ่งคงต้องไป Mirrorless แทน DSLR เดิม เพราะ Nikon ก็ไม่ออก DSLR ใหม่กลุ่มที่เราใช้งานมามานานแล้ว

พอไป Mirrorless ปัญหาคือเลนส์ที่มีอยู่ทั้งหมดของ Nikon ก็ใช้งานใน Nikon Z ไม่ได้เลย เพราะเป็น AF-D และเลนส์ Tamron ที่มีอยู่ ไม่รองรับ adapter Z-Mount ของ Nikon เอง ทำให้การเลือก Mirrorless ในครั้งนี้ เหมือนย้ายค่ายยกเซ็ต ฉะนั้นกลายเป็นอิสระในการเลือกเลยว่าจะเอายี่ห้อไหนอีกรอบ

พอมาไล่ดูแต่ละยี่ห้อ โดย Nikon Z แม้จะดูดี เราคุ้นเคยกับการควบคุมและเมนู แต่รอบการออกกล้องค่อนข้างคาบเกี่ยวกับที่เราจะซื้อพอดี ประกอบกับเลนส์ค่ายอิสระที่ทำให้ Nikon Z มีตัวเลือกน้อยมาก ผมจึงต้องหาตัวเลือกใหม่

ตัวเลือกใหม่อย่าง Sony จึงได้เกิดขึ้น เป็นการหาข้อมูลว่าจะอยู่กับ APS-C หรือจะไป Fullframe ไปเลยดี พอไล่ระดับราคา กลายเป็น APS-C หรือ Fullframe ไม่สำคัญเท่า เราจะเอาการจับถือตัวกล้องแบบไหน ระหว่าง Rangefinder (EVF อยู่ด้านข้าง) หรือ DSLR (EVF อยู่ตรงกลาง) ซึ่งก็มาจากที่แบบ DSLR ที่คุ้นเคย แล้วก็เป็น Fullframe ไปโดยสภาพบังคับ

ทีนี้จะซื้อมือหนึ่งหรือมือสองดี เพราะมือหนึ่งราคาโดดไปไกลมากกว่าที่เคยซื้อ 60k – 80k เลยทีเดียว ผมเลยไล่ดูมือสองเพิ่มเติมแทนในระดับราคาเดิมที่เคยซื้อกล้องมาในตัวก่อนๆ คือ 30-40k ไม่เกินนี้ เพราะต้องเผื่องบไปลงกับเลนส์อีก

สุดท้ายมาจบที่ Sony A7 III แทน ด้วยความที่นั่งเทียบข้อมูลใน dxomark แล้ว ถือเป็นรุ่นที่ก้าวกระโดดมาจาก Nikon D7200 ในด้าน dynamic range, low light และ AF ในที่ราคามือสองไม่แพงจนเกินไป โดยคนใช้งาน เค้าใช้ชัตเตอร์ไปแล้ว 30,000 กว่าๆ ซึ่งก็ยอมรับได้ เพราะส่วนตัวใช้กล้องมา 7-8 ปี ถ่ายรูปปีนึง หนักๆ ก็ 10,000 รูป ฉะนั้น ยังมี shutter life ให้ใช้งานไปได้อีก 3 ใน 4 (ตัวนี้ shutter life 200,000) หรือถ้าใช้งานก็สัก 4-5 ปีสวย ๆ ถึงตอนนั้นหารุ่นใหม่มือสองมาหมุนเวียนอีกรอบก็ยังไม่แย่

พอมาที่เลนส์ตอนแรกสนใจ FE 85mm F1.8 มือหนึ่ง ศ. Sony เลย แล้ว ศ. มีลดราคา ซึ่งลดลงมา 30% แต่พอไปถึง ศ. แล้วลอง FE 70-200 mm F4 Macro G OSS Ⅱ แล้วพบว่า เออ เอาจริงๆ ซื้อระยะ 70-200 mm ที่เราใช้กับกล้องตัวเก่า มาใช้งานเลย น่าจะตบโจทย์การใช้งานมากกว่า เพราะใช้บ่อยกว่าระยะ 85mm เลยจัดระยะ 70-200 mm มาแทน ซึ่งก็ได้โปรลดราคา 7% ซึ่งช่วงราคาที่ลดก็ประมาณเกือบๆ 7,000 บาท

จนสุดท้ายได้ Sony A7 III + FE 70-200 mm F4 Macro G OSS Ⅱ มาใช้งานเป็นชุดเริ่มต้น

ระหว่างนี้ก็รอแท่นชาร์จ (ที่ Sony มันไม่แถม) และแบตก้อนใหม่เพิ่มมาอีกก้อน เพราะ A7 III ตัวนี้มันถ่ายได้ประมาณ 600-700 รูปต่อแบต 1 ก้อน เลยคิดว่ามีแบตหลายก้อนแน่ๆ จะกลายเป็นว่ามีแท่นชาร์จเพิ่มสะดวกเวลาต้องชาร์จแบตพร้อมกัน

ส่วน SD Card ใช้ SanDisk Extreme PRO SDXC UHS-I ตัวเก่าก็น่าจะเพียงพอ เพราะ write performance ของ A7 III ยังไม่ถึง 200MB/s เลยไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้เพิ่มเติม

ส่วนรูปลองถ่ายดู 2 รูป เนื้อไฟล์ประทับใจมาก ขนาดยังไม่ได้ denoise อะไรเลย ยังออกมาดูมากๆ

ทำความเข้าใจหน้าที่ของ OIS และ Speed Shutter ในกล้องมือถือ

พอดีว่าได้ตอบความคิดเห็นใน Motorola บอกใบ้ กล้อง Moto X ถ่ายรูปไม่เบลอ? แล้วอยากเอามาเผยแพร่ต่อใน blog ตัวเองสักนิดเผื่อคนที่ยังไม่เข้าใจกันว่ามีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไรระหว่าง OIS และการปรับ speed shutter เพื่อใช้ในการหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบและการแก้ไขอาการสั่นไหวของการถ่ายรูป

การหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบต้องใช้ speed shutter ในการถ่ายแหละครับ เพราะ OIS (Optical Image Stabilization) ช่วยเรื่องการทำให้ภาพนั้นนิ่งตอนย้ายหรือตอนที่ถ่ายนั้นเกิดการสั่นไหวที่ตัวกล้องเป็นหลัก สรุปมันใช้แทนกันไม่ได้หรอกครับ มันคนละหน้าที่กัน

หลายๆ คนมองภาพไม่ออก ผมยกตัวอย่างเช่น ระบบ IS (Canon) หรือ VR (Nikon) ใน lens ระดับโปรบนกล้อง DSLR ที่สามารถช่วยให้สามารถถ่ายรูปด้วยเลนส์ 70-200mm f/2.8 น้ำหนัก 1-2kg แล้วสามารถลด speed shutter ลงได้ถึงระดับ 1/60s ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถ่ายรูปรถที่วิ่งอยู่ได้ชัดเจน เพราะการถ่ายรูปรถที่เร็วนั้นคุณต้องเพิ่ม speed shutter เพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของตัวแบบเพียวชั่วขณะ อาจใช้ถึง 1/2000/s หรือ 1/4000s เลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการถ่ายรูป

ข้อเท็จจริงคือ electronic shutter มีมานานแล้วและกล้องมือถือก็ใช้กันแบบนี้ทั้งนั้น การทำ speed shutter สูงๆ ระดับหลักหมื่นจึงทำได้ง่ายกว่า DSLR หรือพวกที่เป็น mechanical shutter มาก (Nikon D7100 ถ่ายได้ speed shutter 1/8000s) เอาง่ายๆ ว่ากล้องอย่าง Nokia Lumia 920 ถ่ายรูปได้ที่ 1/3000s สบายๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือการควบคุม speed shutter นั้นจะเป็นตัว camera app เป็นคนควบคุม ไม่ใช่คนใช้งาน เพราะฉะนั้น ส่วนที่จะทำให้มันเกิดขึ้นในกล้องมือถือได้มากขึ้นคือทำให้ camera app ฉลาดพอที่จะรู้ว่าควรถ่ายแนวไหนยังไง สุดท้ายก็ต้องมาลงที่ app ที่คนจะใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกหรือสั่งงานอย่างถูกต้องกับสิ่งที่กำลังจะถ่ายอยู่

ต่อมาคือ การถ่ายรูปในสภาพ speed shutter สูงๆ นั้นต้องทำให้ตัวเซ็นเซอร์รับภาพ สามารถรับภาพที่ ISO (ความไวแสง) ได้สูงมากขึ้นในสภาพแสงต่างๆ กันไป เพราะยิ่งเราต้องการใช้ speed shutter สูงเท่าไหร่ก็ต้องการเซ็นเซอร์ที่ไว้ต่อแสงมากขึ้นเท่านั้น (เพราะแสงมีเวลาที่จะวิ่งเข้าไปหาเซ็นเซอร์น้อย) ซึ่งอย่าลืมว่ากล้องมือถือส่วนใหญ่ค่า f นั้นคงที่อยู่แล้ว จะไปควบคุมหลี่หรือเปิดรูรับแสง (ค่า f) ซึ่งปรกติปรับค่า f ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะทำให้ถ่ายรูปแล้วเซ็นเซอร์รับแสงได้ดี ต้องพัฒนาให้เซ็นเซอร์รับรู้แสงในระดับ ISO สูงๆ แทน ใครนึกภาพไม่ออก ถ้ามี DSLR ลองเอาเลนส์ fixed 50mm f/1.8 มาถ่ายรูปด้วยค่า f/2.0 ตลอดทั้งวันดูครับ เช้ายันเย็น จะเข้าใจว่าค่าที่คุณปรับจะเหลือแค่ speed shutter และ ISO เท่านั้น โดยถ้าได้รับการเรียนรู้การถ่ายรุปมาจะรู้ว่าต้องปรับ speed shutter ก่อน ISO เสมอ เพราะ ISO ยิ่งปรับมาก ยิ่งเกิด noise คุณภาพของภาพจะแย่ลง โดยถ้าคุณถ่ายรูป speed shutter สูงๆ ในอาคาร ต้องดัน ISO ขึ้นสูงอาจจะ 1600 หรือ 3200 เลย กล้อง DSLR อาจจะสบายๆ แต่กล้องมือถือ แค่ 800 ก็ตายแล้ว ><" ปล. ใครงงที่ผมอธิบาย ลองศึกษาเรื่อง ค่ารูรับแสง (ค่า f) ความเร็วชัตเตอร์ (ค่า s) และค่าความไวแสง (ค่า ISO) ดูครับ น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งอยู่ในชื่อบทความจำพวก "การวัดแสง” และ “ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO ” ในเรื่องการถ่ายรูป ;)

เอาภาพจากกล้อง HTC One X มาให้ดู

ผมได้ไปงาน Dinner เล็กๆ ของ HTC มาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาครับ เป็นงาน HTC One Gathering Dinner จัดกันเล็กๆ ที่ Sivatel Bangkok (แอบหลงตอนไป)

โดยรวมแล้วในงานมี 3 ตัวครับ แต่ผมถูกใจภาพจากกล้อง HTC One X มากที่สุดและได้เล่นเยอะที่สุด ส่วนตัว V และ S ผมเล่นไม่เยอะครับ แต่ทุกตัวคุณสมบัติตัว OS ไม่ต่างกัน ต่างกันที่ตัว spec ของ H/W และหน้าจอ ซึ่ง HTC One X ดูดีสำหรับผมมากๆ วัสดุสวยและดีจริงๆ ในงานโชว์ทำตกพื้นให้ดูก็หยิบมาเล่นต่อได้ ซึ่งน่าสนใจๆ มากสำหรับคนชอบอะไรทนไม้ทนมือ

สำหรับตัวกล้องนั้น One X ให้มา 8Mpx ครับ ทำ ISO ได้สูงถึง 1600 แต่ปรับได้จริงๆ ประมาณ 800 (คิดว่ากล้องถ้าตั้ง Auto มันจะปรับเพิ่มได้อีก) ซึ่งสำหรับกล้องมือถือด้วยเนี่ย ไม่ธรรมดา ภาพในที่แสงดีๆ HDR สวยเลย แต่แอบช้านิดๆ แต่ถ่ายออกมาสวย (ตอนถ่ายในที่แสงน้อยต้องมือนิ่งๆ สักหน่อย)

ขอไม่พูดอะไรมากครับ ผมขอเอาภาพจากกล้องมือถือตัวนี้มาให้ชมกันเล็กๆ แล้วกันครับ

ปล. ภาพบางภาพผมถ่ายเองบ้าง คนอื่นถ่ายบ้าง แต่ไม่รู้ใคร ><” ขออภัยด้วยที่ไม่ได้กล่าวถึงคนถ่ายรูปบางภาพ เพราะอยู่ในเครื่องมาก่อนถึงผมแล้ว เลย copy มาฝากด้วย

ปล2. อยากดูภาพ Original คลิ้กที่รูปผมอัพไฟล์ต้นฉบับจากกล้องให้แล้วครับ

IMAG0099c

f/2 speed 1/20s ISO-500
Original: 3264x1840pixel (8Mpx) to 1024x577pixel (via Bicubic Sharper)

IMAG0118

f/2 speed 1/15s ISO-1600
Original: 3264x1840pixel (8Mpx)

Read more

Nikon Sales Thailand เปิดตัว Nikon D4 และเลนส์รุ่นใหม่ในประเทศไทย

ในวันที่ 6 ม.ค. 2555 Nikon Sales Thailand เปิดตัวกล้องและเลนส์รุ่นใหม่พร้อมกับ Nikon สาขาอื่นทั่วโลก แน่นอนว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เปิดตัวกล้องรุ่นโปรพร้อมกับประเทศ อื่นๆ อีกด้วย

คุณสมบัติของกล้อง Nikon D4 คือ

  • CMOS image sensor 16.2 megapixel format FX (24x36mm Full-Frame)
  • ความเร็วในการถ่ายรูปต่อเนื่องที่ full-resolution (16.2 megapixel) ที่ 10 frame per second (fps) เมื่อเปิด AE/AF และไม่เปิด AE/AF ที่ 11 frame per second (fps)
  • Startup time 0.12 seconds และ Shutter Lag 0.042 seconds
  • ปรับปรุงการถ่ายรูปในที่แสงน้อยโดยตั้งแต่ ISO 100 ถึง 12,800 และลดและเร่งได้ตั้งแต่ ISO 50 ถึง 204,800 ทั้งในโหมดถ่ายภาพปรกติและวิดีโอ
  • Image Processor EXPEED3 รุ่นใหม่
  • ปรับปรุงระบบวัดแสงจาก D3 เป็นรุ่นที่ 3 (Third generation color matrix metering system) ที่ 91,000 pixel RGB metering sensor และ 3D Color Matrix III เน้นความสว่างที่ใบหน้าของคน
  • Advanced Multi-CAM 3500FX ระบบโฟกัสปรกติทัั้งหมด 51 จุด และระบบโฟกัสแบบ cross-type ทั้งหมด 15 จุด ที่ f/5.6 หรือกว้างกว่า และระบบโฟกัสสามารถโฟกัสได้ช่วงสว่างน้อยลงไปได้อีก 2 stop จากความสว่างปรกติ
  • มีระบบ Focus Point Switching ระหว่าง Portrait/Landscape
  • เพิ่มปุ่มย้าย Focus อีกปุ่มเพื่อความสะดวกตอนใช้ถ่ายแนวตั้ง
  • Viewfinder แบบ Full Pentaprism 100%
  • บันทึกวิดีโอแบบ Full HD 1080p ได้ที่ 30 และ 24 fps และ HD 720p ที่ 60 fps ในโหมด slow-motion โดยรอบรับการบันทึกแบบบีบอัดด้วย H.264 B frame compression ด้วย ถ่ายได้สูงสุด 29 นาที 59 วินาทีต่อคลิป
  • ระบบบันทึกวิดีโอมี Auto Flicker Reduction (50/60Hz)
  • ระบบวิดีโอสามารถเลือก FX (x1), DX (x1.5) และ CX (x2.7) Format บนวิดีโอแบบ Full HD โดยไม่ลดคุณภาพใดๆ
  • สนับสนุน WTSA wireless control บน Nikon WT-5 wireless tramsmitter และมี Ethernet port
  • HDMI ouput สำหรับบันทึกวิดีโอแบบไม่บีบอัดบน Apple ProRess 422 Series
  • มี Function ทำงานผ่าน HTTP Mode ในการควบคุมและเข้าถึงไฟล์ต่างๆ ในกล้องได้ทันที
  • เพิ่มระบบ face detection/recognition เพื่อสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
  • ตัวกล้องนั้นเป็นกล้องตัวแรกที่สนับสนุน XQD Compact Flash memory card (125MB/s) และ CF UDMA7 (100MB/s)
  • Thermal Shield พื้นผิวตัวกล้องเพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอกเข้าภายในกล้องได้ดีมากขึ้น
  • ตัว Shutter นั้นออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยทดสอบแล้วทำงานได้ถึง 400,000 ครั้ง
  • เพื่อขนาดจอ LCD ด้านหลังเป็น 3.2" 921,000 pixel Gapless และมีเซ็นเซอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ
  • น้ำหนัก 1.180kg (ไม่รวมแบตฯ)

ราคาขายอยู่ที่ 200,000 บาท (ถามตอน Q/A ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต)

ปิดท้ายด้วย เปิดตัว AF-S Nikkor 85mm f/1.8G เลนส์รุ่นใหม่ในงานนี้ด้วยราคาประมาณ 16,000-17,000 บาท (ถามตอน Q/A ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต)

ราคาทั้งสองตัวยังไม่มีออกมาอย่างเป็นทางการ

Read more