แนวคิดการ Backup ทั้งบน Cloud และที่บ้าน

จากที่ผมเขียน แนวทางการ Backup ข้อมูล และ มาทำ Backup ไฟล์สำคัญจากมือถือและโน๊ตบุ๊ก ไปไว้บน Cloud กันดีกว่า!!! (Online Sync) จนผมมักพูดว่า “Backup พันวัน เอาไว้ใช้วันสำคัญวันเดียว … วันที่ข้อมูลมีปัญหา!!!” ซึ่งมีใจโดยสรุปดังนี้

  1. เพื่อป้องกันทั้งการ “ลบ” หรือ “ทำข้อมูลสูญหาย” ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
  2. “กู้ข้อมูลเก่า” เนื่องจากแก้ไขข้อมูลปัจจุบันแล้วมีปัญหา หรือไฟล์ที่มีใช้งานไม่ได้ จึงต้องการกลับไปใช้ต้นฉบับก่อนหน้านี้
  3. ป้องกัน “สื่อเก็บข้อมูลเสียหาย” อันนี้สำคัญเก็บดีแค่ไหน ไอ้ตัวที่เก็บข้อมูลดันเสียเองก็จบกัน
  4. “โดนขโมย” อันนี้ปัจจัยควบคุมได้ยากสุดแต่เกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็ต้องระวัง

ซึ่งเป็นการสรุปมา 4 ข้อ เจอกันบ่อยๆ คงจะเริ่มเห็นความสำคัญของการ Backup กันบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ก่อนทำการ Backup ต้องมีการแบ่ง และจัดระเบียบไฟล์ข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดลำดับ ประเภท และความบ่อย ในการ Backup เป็นส่วนๆ เพื่อง่ายต่อการตั้งรูปแบบการ Backup ได้หลากหลาย รวดเร็ว และช่วยให้การ Restore ไฟล์กลับมานั้นรวดเร็วมากขึ้น

รูปแบบการ Backup นั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่ระดับคนทั่วไปใช้ จนระดับบริษัทขนาดใหญ่โตนับพันล้านใช้ แต่เอาเหอะ เอาระบบบ้านๆ คนทั่วไปใช้งานดีกว่า ซึ่งผมขอแบ่งง่ายๆ 4 แบบ ที่คุ้นเคยกัน

  1. Unstructured หรือ Full (พวก Data Sync ก็แนวๆ นี้เหมือนกัน) – เป็นแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาครับ อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น copy ไว้หลายๆ ชุด แต่ต้องระวังว่าไฟล์ไหนเป็นไฟล์ล่าสุด ต้องจัดระเบียบไม่ดี เดี่ยวไป merge/replace ทับไฟล์ล่าสุดจะงานเข้าซะ ปรกติคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคมาก จะชอบใช้กัน เพราะที่ง่ายสุด และไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์พิเศษใดๆ ให้ยุ่งยาก แค่รู้วิธีการ copy-paste เป็นก็ทำงานได้แล้ว
  2. Full and Incrementals – คล้ายๆ ข้อแรก แต่มีซอฟต์แวร์มาช่วยจัดการให้ โดยจะมีการทำ copy ข้อมูลไว้เป็นไฟล์ๆ (ตามรูปแบบของแต่ละซอฟต์แวร์จัดการ อาจจะเป็นไฟล์เดียวใหญ่ๆ หรือแบ่งเป็นหลายๆ ไฟล์ก็ได้) แล้วเมื่อมีการสำรองข้อมูลครั้งต่อไปก็จะตรวจสอบเฉพาะไฟล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกลบออกไปจากการ Backup ครั้งที่แล้ว แล้วทำการ mark/update เพื่อ Backup ไว้เป็นวัน และเวลานั้นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บได้มาก ถ้ามีการ Backup ทุกวัน ไฟล์ที่ได้จากการ Backup แบบนี้มันเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เวลาจัดเก็บไฟล์พวกนี้ต้องอยู่ครบทุกไฟล์ ต้องระวังให้ครั้งทำ Full-Incrementals ซ้ำไปซ้ำมาเป็นชุดๆ เพราะการเชื่อมไฟล์ Backup แบบนี้ ยิ่งเยอะจะยิ่งช้า และอ่านนานมาก ปรกติโดยส่วนตัวจะพยายามไม่ให้เกิน 14 ไฟล์ หรือขนาดไม่ใหญ่เกินไป (สัก 100GB – 150GB กำลังพอไหว) เพราะป้องกันไฟล์บางไฟล์เสียหาย หรือซอฟต์แวร์เปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีขนาดใหญ่เกินไป
  3. Full and Differential – อันนี้คล้ายกับตัวที่สอง ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ เมื่อมีการสำรองข้อมูลครั้งต่อไปก็จะตรวจสอบเฉพาะไฟล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกลบออกไปล่าสุดจากการ Backup ตัว Full แล้วทำการ mark/update เพื่อ Backup ไว้เป็นวัน และเวลานั้นๆ ไปเรื่อยๆ เวลากู้คืนกลับมาใช้ไฟล์ Full และตัวไฟล์ที่ Backup ตัวล่าสุด หรือวันที่ต้องการ แค่ 2 ส่วนก็กู้คืนได้แล้ว ซึ่งข้อดีคือ เร็วทั้งการอ่าน และเขียนไฟล์ รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อการสูญหายของไฟล์แต่ละส่วนก็น้อยกว่า แต่มีข้อเสียที่ เสียพื้นที่เยอะกว่าแบบข้อที่ 2 มาก
  4. Versioning with File System – อันนี้เป็นแบบที่ไม่ค่อยมีใครใช้กันสักเท่าไหร่ เพราะมันถูกจัดการด้วยตัว OS เองเป็นหลักเลย โดยผมขอยกตัวอย่างใน Windows 8 ชือ File History และใน Windows 7 ชื่อ Previous Versions โดยหลักการง่ายๆ คือระบบจะทำการสำรองข้อมูลของเราเป็น restore point หรือ snapshot  เมื่อเรา save ข้อมูลไว้อีกชุดนึงไว้ เวลาจะเรียกกลับมาก็แค่คลิ้กขวา restore กลับไปตามวันและเวลาที่มัน Backup ไว้ล่าสุด วิธีนี้ง่ายๆ แต่ผมนานๆ ใช้ที ดูแล้วมันทำงานบ้างไม่ทำงานบ้าง ยัง งงๆ อยู่ว่าทำไม อาจจะเพราะตั้งค่ามันเก็บข้อมูลให้ใช้พื้นที่น้อยไปหน่อยเลยมีค่าเฉลี่ยของ ครั้งที่สำรองข้อมูลของไฟล์บางชนิดน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ผมจะใช้ตอนรีบเร่งจริงๆ เท่านั้น ออกแนวมีไว้อุ่นใจเป็นหลัก

จากข้อมูลสรุปๆ ผมก็เขียนเรื่องแนวๆ นี้ซึ่งก็มี แนวทางการ Backup ข้อมูล (ฉบับปรับใหม่) และ วิธีเก็บไฟล์รูปภาพให้อยู่กับเรานานๆ อีกด้วย

แน่นอนว่าในยุคที่เรามีการใช้ Cloud Storage กันอย่างกว้างขวาง ส่วนตัวแล้วไม่ได้ใช้ Cloud Storage  แค่ช่วยในการ Backup ข้อมูลเท่านั้น แต่ผมยังใช้ในการทำงานระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ และมือถือที่ทุกๆ เครื่องสามารถเข้าถึงไฟล์ใน Cloud Storage ได้เหมือนๆ กันทุกเครื่อง ทำให้ไม่ต้องพก Flash Drive หรือ External Hard drive ไปๆ มาๆ ลดโอกาสสูญหาย และหลงลืมได้ ขอให้มี internet เพื่อเข้าถึง Cloud Storage ที่ใช้อยู่ได้ก็เพียงพอ

โดยปรกติตอนนี้ผมใช้ Cloud Storage อยู่หลักๆ 3 ตัวคือ SkyDrive เป็นตัวหลัก SkyDrive Pro เป็นที่เก็บไฟล์สำคัญบางอย่าง และ Dropbox เป็นส่วนสำหรับแชร์ทำงานกับลูกค้า โดยไม่ว่าจะมือถือหรือคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะสามารถเข้าถึง Cloud Storage ทั้ง 3 ตัวนี้ได้ทั้งหมด แน่นอนว่าจะมีส่วนหนึ่งที่ใช้ Cloud Storage แบบเฉพาะ ที่ไว้จัดเก็บ Source code ซึ่งผมจะใช้ BitBucket.org ในการเป็น source code revision control (Git) ในการช่วยแบ่งเบาภาระของ SkyDrive, SkyDrive Pro และ Dropbox ไปอีกชั้นหนึ่ง

แน่นอนว่ามี Cloud Storage ในการจัดเก็บ แชร์ไฟล์งานระหว่างเครื่อง และกลุ่มการทำงานแล้ว ก็ต้องมีการ Backup ส่วนนี้ไว้เองที่บ้านด้วย (ต่อไปจะใช้คำว่า Local backup) ด้วยเช่นกัน เพราะต้องนึกถึงความเสี่ยงที่ระบบ Cloud Storage จะล่ม ซึ่งผมได้แบ่งกลุ่มไว้กว้างๆ อยู่ 3 กลุ่มคือ

1. กลุ่มสำคัญสูงสุด จะใช้  Cloud Storage และทำ Local backup ไปพร้อมๆ กัน โดยแยกไว้ 2 พวกย่อย คือ
– ไฟล์งานเอกสารที่หายไม่ได้ จะ backup ไว้ 2 ส่วน คือ ไว้บน Cloud Storage (SkyDrive/Dropbox ) และ HDD External ที่ตั้ง daily backup ทุกวัน (เปิดเครื่องทิ้งไว้ตอนกลางคืน ให้ Acronis True Image ทำการ Full and Incrementals backup)
– ไฟล์ source code และต้องทำ source code revision control จะ Backup ไว้ 2 ส่วน คือ ไว้บน BitBucket.org และ HDD External ที่ตั้ง daily backup ทุกวัน (เปิดเครื่องทิ้งไว้ตอนกลางคืน ให้ Acronis True Image ทำการ Full and Incrementals backup)

2. กลุ่มสำคัญมาก จะทำ Local backup เท่านั้น ได้แก่พวกไฟล์รูปภาพ หรือไฟล์ความทรงจำต่างๆ มักจะให้ความสำคัญสูงมาก หายไม่ได้ มีขนาดใหญ่ที่ไว้บน Cloud Storage ลำบาก ต้องมี 2 สำเนาเสมอบน HDD External โดยใช้ลักษณะการ Full data sync ต่าง HDD External ทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่ (ทำ Full data sync ผ่าน SyncToy)

3. กลุ่มสำคัญ จะทำ Local backup เท่านั้น ได้แก่พวกพวกไฟล์วิดีโอ (จำพวก เอ็มวีหายาก ไฟล์หนังหายากที่ rip จากแผ่นที่เก็บไว้ ป้องกันแผ่นเสีย), ไฟล์อีบุ๊ค, ซอฟต์แวร์ที่คัดลอกไว้เพื่อไว้สำหรับติดตั้งในอนาคต มีขนาดใหญ่ที่ไว้บน Cloud Storage ลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 2 สำเนาบน HDD External เสมอ และ Full data sync ต่าง HDD External เดือนละครั้ง (ทำ Full data sync ผ่าน SyncToy)

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าผมพยายามปรับปรุงการ backup ให้รัดกุมที่สุด และถ้าได้ติดตามในตอนก่อนๆ จะเห็นว่ามีการปรับปรุงให้เรียบง่ายมากขึ้น ไม่ซับซ้อนเหมือนตอนก่อนๆ แน่นอนว่า หลายๆ คนคงให้เหตุผลว่าทำไมไม่ใช้ RAID ร่วมด้วย คือต้องอธิบายก่อนว่า RAID นั้นช่วยเรื่อง uptime เป็นหลัก ซึ่งเหมาะกับ Server และการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การนำมาใช้ในการสำรองข้อมูลที่เน้นคงทน และสามารถกู้ข้อมูลกลับมาในวันก่อนๆ ได้นั้นยังคงเป็นจุดอ่อน รวมไปถึงมีจุดอ่อนในส่วนของ RAID Controller มีปัญหา หรือ File System เสียหายจนใช้งานไม่ได้ด้วย ซึ่ง RAID นั้นไม่ช่วยอะไรในกรณีนี้ ฉะนั้นการสำรองข้อมูลต่าง HDD แบบแยกออกเป็นอุปกรณ์ และทำ Full data sync จะดีกว่าสำหรับไฟล์แนวๆ ตัวอย่างที่ผมใช้ประจำคือ Server ที่ผมดูแลนั้นมีการใช้ RAID และยัง backup ข้อมูลต่างชุด HDD รวมไปถึงงานที่ซีเรียสมากๆ ผมจะ backup ต่างเครื่อง ด้วยซ้ำไป

สรุปผลจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ช่วยชีวิตผมมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แม้ใช้งบเยอะหน่อย แต่ไฟล์งานสำคัญปลอดภัยผมถือว่าคุ้มค่าครับ

วิเคราะห์ และ ถาม-ตอบ ปัญหาการจัดซื้อ แท็บเล็ต OTPC โซน 1-2 ป่วน เหตุบริษัทเสิ่นเจิ้นปิดกิจการ

เนื้อความด้านล่างต่อไปนี้ เป็นเนื้อความที่อ้างอิงคำถามที่ได้จากข่าว แท็บเล็ต OTPC โซน 1-2 ป่วน บริษัทเสิ่นเจิ้นปิดกิจการยอมเสียเงินค้ำประกัน 120 ล้านบาท โดยอ่านความคิดเห็นบางส่วน แล้วนำมาเป็นคำถาม และให้มิตรสหายข้าราชการท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์ในด้านจัดซื้อ ออก TOR และตรวจรับ ซึ่งทั้งหมดที่ตอบทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้าใจบางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงครับ


ผมขออนุญาตในการเขียนถามตอบเนื่องจากยังมีหลายท่านที่เข้าใจในระบบราชการที่คลาดเคลื่อนไปเสียส่วนมาก อนึ่งในการเขียนถามตอบครั้งนี้ มิได้หวังให้มุ่งเน้นในเรื่องของการเมือง แต่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระเบียบราชการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ แก่ลูกหลานเราในอนาคต

เริ่มแรก ขอให้ท่านรู้จัก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยระเบียบ 2 ตัวนี้ เป็นเหมือนกฎหลักที่ทุกหน่วยงานในประเทศไทยจะต้องใช้เพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง จัดหา ให้ได้มาเพื่อ วัสดุสิ่งของ

Q: มาเลเซียเค้าดีลกะกูเกิ้ลโดยตรงเลย ทำไมไทยไม่เอาแบบนั้นหละ กูเกิ้ลเค้าไม่ปิดหนีหรอกมั้ง
A: การที่ไทยไม่ดีลกับ Google โดยตรง ต้องพิจารณาว่า เมื่อมีปัญหาในการส่งซ่อม ส่งเคลม ทาง Google สามารถจะสนับสนุนในส่วนนี้ได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่จะพิจารณากันอีกครั้ง

Q: ดีลกับกูเกิ้ลตรงไม่ได้ครับ ต้องศึกษาระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐก่อนนะครับ มันต้องร่าง TOR และประมูลหาคนมาดำเนินการ โดยจะต้อง “ประหยัดเงินต่อรัฐ” ได้มากที่สุด ถ้าไปดีลกับกูเกิ้ลโดยตรง ถึงจะได้ของดี แต่รัฐโดนฟ้องแน่นอนครับ ปล.อันนี้ในกรณีตัดเงื่อนไขเรื่องโกงหรือไม่โกงออกไปเลยนะครับ
A: ถูกต้องครับ เพิ่มเติม สิ่งที่จะตามมาคือ การกีดกันทางการค้า ยกตัวอย่างในวงการคอมพิวเตอร์แบนด์ไทย ATECH หรือ POWELL พยายามต่อสู้ในส่วนนี้อยู่ หากเรายึดถือแบนด์ต่างชาติมากไป โอกาสที่จะไม่เกิดการแข่งขันย่อมมีสูง แบนด์ไทย เราจะตายเลยครับ

Q: TOR ก็ออกมาจากคนที่ฮัวะประมูล แบบก็เขียนมาจากคนฮัวะ… ตั้งเงื่อนไขให้ตัดชาวบ้านได้มากสุดต้องมีพอร์ทดีลกับรัฐมูลค่า xxx นู่นนี่ พอถึงเวลาก็จัดบ.ที่เข้าเงื่อนไขไปซื้อซองประมูล บ.ที่หลุดเข้ามาได้ก็เคลียร์จะเอาเท่าไหร่ไม่ต้องมาเสียเวลาแข่ง ตอนยื่นประมูลก็นัดกันว่า จะกดกี่คลิ้กพอ… จบการประมูลใครชนะจ่ายเองก่อน 20-30… แล้วไปรอเงินค่าทำที่ตามงวดเบิกนะจ้ะ
ปล. ทั้งหมดเดาเอา…ตัดเรื่องเป็นไปได้หรือไม่ ออกได้เลยครับ
A: ในวงการอย่างนี้มีไหม บางครั้งคำตอบก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ครับ ในการเขียน TORที่วงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาทและต้องจัดหาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีคณะกรรมการร่าง TOR เมื่อคณะกรรมการร่างเสร็จ ก็จะประกาศให้ประชาชนมาพิจารณ์ ร่างว่า ร่างดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสม หรือมีการฮั้วประมูลหรือไม่ ส่วนนี้ ประชาคม Blognone ก็สามารถมีส่วนร่วมในทุกโครงการเกี่ยวกับงานไอทีได้ทั้งหมดครับแต่การจะมีส่วนร่วมในร่างดังกล่าว จะต้องทำอย่างเปิดเผย คือเปิดเผยว่าเราเป็นใคร มีความเห็นกับร่างดังกล่าวอย่างไร และความเพิ่มหรือลดข้อความไหน โดยปราศจากอคติ และมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน

Q: แล้วทำไม Tablet สส ยึดสเปคเป็น iPad ได้ละครับ ทั้งที่มาตรฐานราคาแพงหูฉี่เลยละนั่น แถมไม่ยักโดนฟ้องด้วยนะ
ถ้าจะอ้างความน่าเชื่อถือ แล้วทำไม Tablet เด็ก ไม่เลือกที่น่าเชื่อถือได้มากกว่านี้ล่ะ ของพวกนี้มันกำหนดสเปคใน TOR ตามใจคนจะซื้อได้อยู่แล้ว แถมบริหารจัดการห่วยๆ จนเค้าด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง
A: เรื่องของ tablet ของสส.ที่เป็น iPad อย่างแรกออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวผมเองไม่เห็น TOR จริงแต่สามารถให้ข้อคิดเห็นได้ว่า การเขียนสเปคของ iPad สามารถทำได้เนื่องจากถึงแม้เราจะกำหนดระบบปฏิบัติการ แต่เราไม่ได้กำหนดเครือข่ายที่ใช้ นั่นก็ทำให้เกิดการแข่งขันในเบื้องต้น ก็ทำให้ tablet ของ สส. จึงสามารถเป็น iPad ได้
อย่างที่ สอง ในการประมูล tablet ของสส. ย่อมมีวงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็ย่อมเข้าการจัดหาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพิจารณ์ TOR เมื่อไม่มีการแก้ไข TORในส่วนที่สำคัญ ก็สามารถประมูลได้อย่างถูกต้องครับ

Q: ส่วนตัวผมคิดว่า ก่อนการประมูลน่าจะมีการประเมินผู้เข้าร่วมประมูลก่อน และหลังจากการประมูลถ้ าราคาประมูลถูกหรือแพงกว่าราคากลางมากๆ ก็ควรจะมีการทบทวนอีกภายหลังครับ
A: เราสามารถกำหนดใน TOR ได้ครับว่า ผู้รับจ้าง จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น จะต้องมีประสบการณ์ในการรับจ้างโครงการในลักษณะเดียวกันในวงเงิน กี่ล้าน จำนวนกี่โครงการ แต่การเขียน TOR ในลักษณะนี้ ก็จะสามารถมองได้ว่าเป็นการกีดกันรายใหม่ๆ ที่จะเข้าประมูลได้เหมือนกันครับ

Q:บริษัท เสิ่นเจิ้นชนะการประมูลด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตั้งต้นมาก ต่ำกว่าเจ้าอื่นมากๆ และถ้ามีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุแบบนี้ ผมจึงมองว่าน่าจะมีอะไรที่ควรพิจารณามากกว่าแค่เรื่องราคา เป็นตัวหลักในการตัดสินใจ ครับ
A: โดยปกติการประมูลด้วยการเคาะราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่ บริษัทที่ชนะการประมูล ประมูลได้ในราคาต่ำมาก เช่น วงเงินที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณ 2,500,000 บาท แต่ผู้ชนะการประมูล ประมูลได้ที่ 190,000 บาท ซึ่งมาจากการเคาะราคาที่ผิดพลาด คณะกรรมการ สามารถพิจารณายกเลิกการเคาะราคา หรือกำหนดให้มีการเคาะราคาครั้งใหม่ได้ ในส่วนของเสิ่นเจิ้น กรณีนี้ไม่เข้าในส่วนแรกที่กล่าวมา ในเรื่องของการพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เข้าประมูล ก็จะพิจารณาจากคุณสมบัติที่กำหนดในคราวแรกครับ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใด ก็ไม่สามารถจะห้ามมิให้เสิ่นเจิ้นเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ชนะการประมูลได้เลย

Q: อ่านข่าวแล้วปลง จำได้ว่าเคยมีเรื่องกับฝ่ายพัสดุอยู่ครั้งหนึ่งเรื่องจัดซื้อครุภํณฑ์คอมพิวเตอร์ คำตอบที่ได้จากหัวหน้าฝ่ายพัสดุตอนนั้นคือ “ของแพงคุณภาพดีให้ซื้อไว้ใช้เองที่บ้าน แต่นี่หน่วยงานราชการเค้ากำหนดให้ซื้อของถูกที่สุด” เขียน spec HP ส่งไป…แต่ได้ของเป็นคอมฯประกอบ…เหตุผลคือมันถูกที่สุด.
A: ข้อแนะนำจากประสบการณ์ การเขียน TOR เพื่อกันไม่ให้เครื่องประกอบชนะการประกวดราคา สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามระเบียบครับ
โดยเพิ่มคำว่า “ตัวเครื่อง, จอภาพ, คีย์บอร์ด และเมาส์ ต้องมีเครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดย 
ประทับตราเครื่องหมายการค้านั้นไว้บนอุปกรณ์อย่างถาวร”
ถ้าอยากได้แบรนด์ดี ก็เพิ่มว่า “ผู้รับจ้างจะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทที่มีเครื่องหมายการค้าของอุปกรณ์ข้างต้น”

Q: เคยคุยกับข้าราชการ คือมันมีระเบียบอยู่ว่าซื้อของที่แพงกว่าราคาประมูลถูกสุดได้ครับ แต่คณะกรรมการที่อนุมัติต้องโดนสอบแน่ๆ (เพราะคนให้ราคาถูกสุดจะต้องร้องเรียน)
ทีนี้การที่คณะกรรมการโดนสอบมันใช้เวลาหลายปีครับ กว่าจะสรุป
ระหว่างนั้นข้าราชการที่โดนสอบก็แป๊กครับ ตำแหน่งไม่ขึ้น เงินเดือนไม่ขึ้น ย้ายไม่ได้
กรรมการเลยเลือกใช้เฉพาะถูกสุดแทนเพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง
A: จริงๆแล้วคณะกรรมการพิจารณาจากเอกสารที่ทำเสนอไปครับ และในวันที่เปิดซองสอบราคานั้น เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ถ้าเคยค้าขายราชการจะทราบว่าซองที่จะเสนอมี 2 ส่วนคือ
1. ซองคุณสมบัติผู้รับจ้าง
2. ซองราคา
ถ้าท่านมั่นใจว่าท่านส่งเอกสารครบถ้วน ท่านสามารถเข้าไปนั่งดูการเปิดซองได้ครับโดยเฉพาะซองคุณสมบัติผู้รับจ้าง บ่อยครั้งส่งไม่ครบ แต่ที่ชนะการประมูลนั้นคณะกรรมการพิจารณาแล้ว ว่าก็ส่งกันไม่ครบหลายราย จึงไม่เอามาพิจารณาตัดตก ตามหลักการแล้ว จะต้องเปิดซองที่ 1 ซองคุณสมบัติผู้รับจ้างเสียก่อน ถ้าส่งเอกสารไม่ครบแม้แต่ 1 ใบอย่างใบจดทะเบียนบริษัท คณะกรรมการจะต้องไม่เปิดซองราคา ส่วนที่ 2 อย่างเด็ดขาด และปรับให้ ตกทันที

สรุป
กรณีศึกษานี้ ในความเห็นส่วนตัวที่โครงการล้ม น่าจะเกิดจาก

1. ปัญหาของ TOR ที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของ spec ไม่เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนในอนาคต ซึ่งพบบ่อย ยกตัวอย่างเช่น TOR ระบุ จะต้องส่งมอบ OS เป็น Windows 7 ลิขสิทธิ์ถูกต้อง พร้อมแผ่นติดตั้ง ซึ่ง ณ เวลาปัจจุบัน Microsoft ไม่มีแผ่นติดตั้ง Windows 7 ขายในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ PC ณ เวลานี้มาพร้อม Windows 8 ผู้ขายก็เกิดปัญหา กรรมการก็เกิดปัญหาเพราะไม่สามารถตรวจรับให้ตรงกับ TOR ได้ทั้งๆที่รู้แก่ใจว่า Windows 8 นั้นใหม่กว่า
TOR ที่ถูกที่สุด ควรระบุ ไว้ว่า OS เป็น Windows 7 หรือสูงกว่า โดยได้รับสิทธิ์การใช้งานอย่างถูกต้องจาก Microsoft

2. เรื่องค่าปรับ โดยปกติในการจัดซื้อจัดจ้างจะมีในส่วนนี้อยู่แล้ว ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อที่ 134 กำหนดไว้ว่า การซื้อ/จ้าง ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันอัตราตายตัว ระหว่างร้อยละ 0.01-0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ แต่ในข้อที่ 136 ของระเบียบเดียวกันก็สามารถแก้ไขได้ครับ โดยกำหนดว่าสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ(รวมทั้งรายละเอียดประกอบที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา)ที่ลงนามแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่

  • จะมีความจำเป็นโดยไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์
  • หรือ เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
  • ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
  • ในกรณีมีการเพิ่มวงเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณด้วย
  • การจัดหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงหรืองานเทคนิคพิเศษเฉพาะอย่างต้องได้รับการรับรองจากวิศวกร/ผู้ชำนาญการก่อน

ในกรณีนี้ไม่สามารถแก้สัญญาได้เลยแม้ว่าเมื่อยกเลิกจะทำให้ราชการเสียหายเพราะ บ.เสิ่นเจิ้นขอลดค่าปรับ แต่ไม่ได้เพิ่มมูลค่า tablet หรือจะส่งมอบเนื้องานเพิ่มเติม ทำให้ยังไงทาง คณะกรรมการก็ไม่สามารถ ลดค่าปรับหรือละเว้นค่าปรับให้ได้เลย เมื่อไม่มีทางไป ผลก็เลยออกมาตามข่าวที่ปรากฏข้างต้นนี้เอง

CEO คนใหม่ของ Microsoft “Satya Nadella” คนที่ป๋าเลือกมาแล้ว!!! (The Chosen One)

หลังจากหลายสำนักข่าวต่างคาดเดา และวิเคราะห็กันอย่างมากมายว่าใครจะมาเป็น CEO คนใหม่ของ Microsoft มาวันนี้ช่วงประมาณ 3 ทุ่มประเทศไทย (เช้าวันใหม่ที่อเมริกา) Microsoft ก็ได้ประกาศ CEO คนใหม่ อย่างเป็นทางการ นั้นคือ Satya Nadella ซึ่งเค้านั้นทำงานใน Microsoft มากว่า 22 ปี ซึ่งคงเข้าใจวัฒนธรรมบริษัทขนาด ใหญ่อย่าง Microsoft เป็นอย่างดี และคงสานงานต่อได้อย่างราบรื่นได้ไม่ยากนัก

2014-02-04_220920

Satya Nadella เป็น CEO คนที่ 3 ต่อจาก Steve Ballmer และ Bill Gates ซึ่งถือเป็นคนแรกของ Microsoft ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาแต่เริ่มต้น

โดยพื้นฐาน Satya Nadella เป็นคนสาย internet และ cloud based เค้าเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมาก ซึ่งเคยดูแลหรือมีส่วนร่วมทั้ง Bing, Windows server, Database server, Developer tools, Azure และ Office 365 ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการนำพาอนาคตของ Microsoft ที่มุ่งไปแนวทาง Devices & Services ได้เป็นอย่างดี เพราะยุคที่ application ต่างๆ ถูกย้ายขึ้น internet และ cloud ซึ่งยังเป็นการประกาศตัวว่า Microsoft เอาจริงมากขึ้นในตลาดนี้

แต่น่าสนใจคือ เค้ามีผลงานไม่เด่นชัดในด้าน Devices มากนัก แต่จากที่คิดไว้ Bill Gates ที่ในตอนนี้ได้ลงจากตำแหน่ง Chairman ของ Microsoft ได้มาเป็น Technology Advisor แทน (ส่วนตำแหน่ง Chairman ของ Microsoft ที่ว่างลงนั้นให้ John W. Thompson รับตำแหน่งต่อไป) ซึ่ง Bill Gates นั้นมีวิศัยทัศน์ที่ยาวนานในโลกไอที น่าจะช่วยให้คำแนะนำงานด้าน Devices ไปได้อย่างราบรื่น แต่สุดท้ายแม้จะมีผู้ให้คำปรึกษาดีเพียงใด คนที่ต้องตัดสินใจคือ เค้าเอง ฉะนั้นคงเป็นงานท้าทายของเค้าอยู่ดี เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ความสดใหม่ในสายงาน Devices นี้ของเค้า และที่ปรึกษาที่เก๋าเกมในโลกไอที จะมาช่วยให้ Microsoft ก้าวกลับมายืนที่จุดสูงสุดเหมือนในอดีตได้หรือไม่

Nokia Lumia 1520 – 20MP PureView กับ Nokia Camera และ RAW File (DNG)

โนเกียได้เปิดตัว Nokia Lumia 1520 เมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่งเป็นมือถือรูปลักษณ์แบบ Phablet ที่มาพร้อมกับจอภาพขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด Full HD อีกทั้งผนวกกับ กล้อง และเลนส์ Carl Zeiss ทำงานผ่านเซ็นเซอร์ขนาด 1/2.5” ความละเอียด 20 MP เทคโนโลยี PureView และ optical image stabilization (OIS) โดยเป็นการจับคู่กันอย่างลงตัวของมือถือจอภาพขนาดใหญ่ และกล้องถ่ายรูปพร้อมเลนส์ประสิทธิภาพสูง

WP_20131226_12_00_01_Pro wp_ss_20131226_0013c

โดยกล้อง และเลนส์ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น ต้องคู่กับแอพที่ชื่อ Nokia Camera ซึ่งเป็นแอพที่ได้รวมเอา Nokia Smart Cam และ Nokia Pro Cam เข้ามารวมกันในแอพเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเลือกใช้งาน คุณสมบัติเดิมจากทั้งสองแอพนั้น ได้ถูกถ่ายทอดมาครบครันใน Nokia Camera โดยเป็นทั้งแอพที่ช่วยในการ แต่งรูปที่ทำให้เราถ่ายภาพ ปรับแต่งภาพที่มีวัตถุเคลื่อนไหว ภาพแอ็คชั่นเคลื่อนไหว และเอฟเฟคสวยๆ ผ่านเลนส์แอพได้

WP_20131218_10_23_48_Pro

WP_20131226_12_16_24_Pro
(ภาพถ่ายโดย Nokia Lumia 920)

รูปลักษณะตัวเครื่องนั้นออกแบบที่หมดจด เต็มไปด้วยแนวการออกแบบที่ชื่อว่า minimalist โดยจะมุ่งเน้นใส่รายละเอียดตามความจำเป็น และประโยชน์เพื่อใช้งานตามความเหมาะสมเป็นหลัก

ภายในนั้นใช้ชิปประมวลผลกลาง Qualcomm MSM8974 Snapdragon 800 และชิปประมวลผลกราฟฟิก Adreno 330 ให้หน่วยความจำหลักมาถึง 2GB และพื้นที่เก็บข้อมูลหลักของเครื่องอีก 32GB และยังใส่ microSD Card เพิ่มได้อีกด้วย

Nokia Camera

Nokia Camera ซึ่งเป็นแอพที่ได้รวมเอา Nokia Smart Cam และ Nokia Pro Cam จากแอพที่พัฒนาแะใช้งานแยกกันมาแต่เดิม มารวมกัน โดยหน้าตาและการเรียกใช้ ทำงานทดแทนแอพ Camera หลักของ Windows Phone 8 (Lumia Blank) ได้ทันที

wp_ss_20131226_0008

การเข้าใช้งาน Nokia Camera ที่มาพร้อมกับ Windows Phone 8 (Lumia Black) นั้นเข้าผ่านปุ่ม shutter หลักของเครื่องได้ทันที เพราะ Nokia ตั้งค่าเข้า Nokia Camera ให้เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงานมาให้เลย ซึ่งหน้าแรกที่เจอคือส่วนติดต่อการถ่ายรูป 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนปรับแต่ง (ด้านบน) และส่วนของการเลือกโหมดการถ่ายภาพ-สั่งการถ่ายภาพ (ด้านขวา) โดยเลือกได้ระหว่างโหมดการถ่ายภาพแบบ Picture, Video และ Smart

wp_ss_20131226_0009

ส่วนปรับแต่ง (ด้านบน) นั้นสามารถขยายออกมาเป็นตัวเลือก เพิ่มเติมได้มากมาย โดยปรับได้ดังนี้

  1. brightness ปรับแต่งแบบชัดเชยแสง แบบ 3 Stop (1/3, 1/6 และ 1)
  2. shutter speed ปรับแต่งค่าความเร็มชัตเตอร์ (1 ส่วนวินาที ถึงหลักวินาที)
  3. sensitivity ปรับแต่ค่าไวแสง แบบ ISO
  4. focus ปรับการโพกัสแบบอัตโนมัติกับแบบปรับเอง (automatic หรือ manual)
  5. white balance ปรับตั้งค่าสมดุลสีขาว
  6. flash on/off ปรับการใช้แฟลชในการถ่ายรูป

wp_ss_20131226_0002 wp_ss_20131226_0015

wp_ss_20131226_0016 wp_ss_20131226_0019

wp_ss_20131226_0020 wp_ss_20131226_0021

แน่นอนว่าบางคนไม่สะดวกในการปรับแต่งที่ส่วนปรับแต่ง (ด้านบน) ก็สามารถลากปุ่มสั่งการเข้ามาที่กลางจอภาพ จะมีส่วนปรับแต่งทั้งหมดแสดงออกมาให้ปรับแต่งได้ทัน โดยไม่ต้องไปยุ่งกับส่วนปรับแต่ง (ด้านบน) ให้ยุ่งยากแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้คงแล้วแต่ใครถนัด

wp_ss_20131226_0001

ในส่วนของ App Bar นั้น มีส่วนของ Expander (Ellipsis) ที่สามารถเลือกใช้งานเมนูอื่นๆ ที่ซ้อนอยู่เพิ่มเติมได้

wp_ss_20131226_0022 wp_ss_20131226_0023

  1. lenses – เป็นส่วนที่เรียกแอพเพื่อเรียกใช้ฟิตเตอร์ต่างๆ ในการตกแต่งรูปภาพที่ถ่ายเสร็จแล้ว
  2. front facing – เป็นส่วนสลับการใช้งานกล้องหน้า-หลัง
  3. timer – ตั้งเวลาถ่ายรูป
  4. bracketing – ตั้งค่าเพื่อถ่ายรูป “คร่อมแสง” โดยใช้เพื่อให้ความสว่างหลายระดับ แยกเป็นหลายภาพ (ถ่ายที่ละภาพ) โดยกดปุ่มชัตเตอร์ไล่ไปเรื่อยๆ ตัวแอพกล้องจะไล่ปรับความสว่างจากมืดสุดไปสว่างสุด ตามการตั้งค่า
  5. settings – การตั้งค่ารวมทั้งหมดของ picture, video และ smart
  6. tutorial
  7. feedback
  8. about

wp_ss_20131226_0029 wp_ss_20131226_0030

wp_ss_20131226_0031

ในส่วนที่น่าสนใจคือ settings เป็นส่วนที่ปรับแต่งค่าต่างๆ ใดมากมายกว่าแอพ Camera หลักของ Windows phone 8 ค่อนข้างเยอะ

ในส่วนของ pictures นั้นจะปรับแต่งได้ดังนี้

  1. ตั้งให้มีไฟส่องโดยใช้ไฟจากแฟลชที่มือถือ เพื่อส่องช่วยหาโฟกัสให้
  2. ตั้งค่าประเภทของเส้นกริดเพื่อช่วยจัดองค์ประกอบภาพ
  3. สัดส่วนของภาพ (16:9 หรือ 4:3)
  4. การเลือกประเภทของรูปภาพที่จะได้หลังจากถ่ายรูปเสร็จสิ้น (จะกล่าวต่อไปในตอน RAW File)
  5. การตรวจจับใบหน้า
  6. แสดงรูปภาพหลังจากถ่ายรูปเสร็จสิ้น

wp_ss_20131226_0024 wp_ss_20131226_0026

ในส่วนของ video นั้นจะปรับแต่งได้ดังนี้

  1. ตั้งค่าประเภทของเส้นกริดเพื่อช่วยจัดองค์ประกอบภาพ
  2. ความละเอียด ความเร็ว และสัดส่วนของวิดีโอที่จะบันทึก
  3. ตั้งค่าคุณภาพของเสียง
  4. ตั้งค่าการบันทึกเสียงจากไมล์ที่อยู่คู่กับกล้องหน้า

ในส่วนของ smart นั้นจะปรับแต่งได้เพียงแสดงรูปภาพหลังจากถ่ายรูปเสร็จสิ้นเท่านั้น เพาะการปรับแต่งจะเป็นแบบสำเร็จรูปไว้แล้ว

wp_ss_20131226_0027 wp_ss_20131226_0028

RAW File (DNG)

การตั้งค่าเพื่อบันทึกการถ่ายรูปของมือถือ Nokia Lumia 1520 (และ Nokia Lumia 1020) เพื่อให้บันทึกไฟล์ DNG (RAW) นั้น สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่ pictures ในแอพ Nokia Camera ที่หัวข้อ Capture mode

จะมีตัวเลือกให้ทั้งหมด 3 ตัวเลือก

  1. บันทึกรูปภาพเป็นไฟล์ JPG เฉพาะขนาด 5 MP เท่านั้น โดยรูปที่ได้จะมีขนาด 5 MP โดยใช้การย่อภาพแบบ pixel oversampling จากเซ็นเซอร์ขนาด 20 MP ลง ภาพที่ได้จะมีขนาดไฟล์ที่เล็ก ทำให้ถ่ายภาพได้จำนวนมากๆ ได้ โดยไฟล์จะมีมีขนาดประมาณ 1.5MB – 3MB
  2. บันทึกรูปภาพเป็นไฟล์ JPG ทั้งขนาด 5 MP และ 16 MP ไปพร้อมๆ กัน โดยรูปที่ได้จะมีขนาด 5 MP และ 16 MP โดยใช้การย่อภาพแบบ pixel oversampling จากเซ็นเซอร์ขนาด 20 MP เช่นเดียวกับข้อแรก ภาพที่ได้จะมีขนาดไฟล์ที่เล็ก ทำให้ถ่ายภาพได้จำนวนมากๆ ได้ โดยไฟล์จะมีมีขนาดประมาณ 1.5MB – 3MB สำหรับ 5 MP และ 8 -11MB สำหรับ 16 MP
  3. บันทึกรูปภาพเป็นไฟล์ JPG ขนาด 5 MP และ DNG ขนาด 16 MP ไปพร้อมๆ กัน โดยรูปภาพ JPG ที่ได้จะมีขนาด 5 MP โดยใช้การย่อภาพแบบ pixel oversampling จากเซ็นเซอร์ขนาด 20 MP และไฟล์แบบ DNG ที่ปรับแต่งได้หลากหลายกว่า โดยภาพแบบ JPG ขนาด 5MP จะมีขนาดไฟล์ที่เล็ก ส่วน DNG นั้นจะมีขนาดของไฟล์ที่เท่ากันทุกภาพ ที่ 20.1 MB หรือเรียกว่า uncompressed RAW

เมื่อเลือกรูปแบบการบันทึก และถ่ายภาพไปแล้ว เราสามารถเข้าไปนำไฟล์ DNG ได้จาก folder ที่ชื่อ Camera Roll ใน Pictures ภายในหน่วยความจำของตัวเครื่อง Nokia Lumia 1520 (และ Nokia Lumia 1020)

wp_ss_20131226_0025

รูปแบบไฟล์ DNG หรือชื่อเต็มคือ Digital Negative เป็นรูปแบบไฟล์มาตรฐานเปิดจาก Adobe โดยเจ้าไฟล์ DNG นี้ถือเป็นไฟล์ RAW ในลักษณะมาตรฐานเปิด ซึ่งสามารถนำเอาไฟล์ DNG นี้ไปเปิดกับซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการเปิดไฟล์ DNG ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผู้ผลิตกล่องนั้นๆ ทำซอฟต์แวร์เฉพาะออกมาพร้อมๆ กันไป (ซอฟต์แวร์เหล่านี้เรียก RAW Converter) โดยซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมในการเปิด DNG ได้แก่ Adobe Photoshop Lightroom หรือ Adobe Camera RAW เป็นต้น

จากตัวอย่างผู้เขียนได้เปิด Metadata (Exif) ของไฟล์ JPG และ DNG ผ่าน Adobe Bridge CC

2013-12-26_145153

2013-12-26_145215

โดยจาก metadata ถูกแปลงจากซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Nokia RAW-to-DNG converter v01.00.06 จากภายในตัวแอพ Nokia Camera อีกทีเพื่อให้ได้ไฟล์ DNG ออกมา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำไฟล์ DNG ไปใช้งานได้กว้างขว้างมากขึ้น

ข้อดีประการต่อมาในการใช้ไฟล์ DNG คือ การปรับแต่งแก้ไขไฟล์ DNG จะไม่ทำลายข้อมูลต้นฉบับ โดยผู้ปรับแก้สามารถปรับค่าคืนกลับตามเดิมได้โดยไม่ทำให้ข้อมูลเดิมเสียหาย (non-destructive) นั้นหมายรวมไปถึงการตั้งค่าที่กล้องจะไม่มีผลกับไฟล์ DNG แต่อย่างใด โดยเมื่อเราเปิดไฟล์ DNG ขึ้นมา จะต้องเป็นผู้ใช้งานเองที่เป็นผู้ปรับแต่งอีกครั้งเหมือนเราเป็นแอพที่เปิดไฟล์เหล่านั้นมาปรับแต่ง ฉะนั้น ถ้าเรานำไฟล์ DNG ไปเปิดในโปรแกรมต่างยี่ห้อ หรือแม้แต่ต่างเวอร์ชั่นกัน ก็จะอ่านค่าไม่เหมือนกัน แม้จะมีการบันทึก และปรับแก้ โทน สี ความคมชัดจะไม่เท่ากันเลย แต่สามารถปรับแต่งให้ทุกอย่างเหมือนกันได้ผ่านการปรับแต่งอย่างละเอียดโดยผู้ใช้งานเองอีกครั้ง

ซึ่งเจ้าไฟล์ DNG ของ Nokia Lumia 1520 นั้นมีขนาด 20.1 MB ทุกรูป ไฟล์มี resolution ที่ 5,376 x 3,024 pixel หรือ 16.3MP โดยให้จำนวนข้อมูลบิต (bit depth) ที่ 10 bit และ ICC profile (colour space) แบบ RGB

สำหรับด้าน JPG ให้จำนวนข้อมูลบิต (bit depth) ที่ 8 bit และ ICC profile (colour space) เป็น sRGB

การปรับแต่งไฟล์ DNG ผ่าน Camera RAW

โดยปรกติถ่ายใครได้เล่นไฟล์ RAW และใช้ DSLR อยู่แล้วคงไม่รู้สึกแปลกใหม่อะไรเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ และเคยได้สัมผัสอาจจะไม่รู้ถึงความสามารถ และการปรับแต่ง แน่นอนข้อเด่นแรกที่ได้บอกไปแล้วว่า

  1. เราสามารถการปรับแต่งแก้ไขไฟล์แล้วจะไม่ทำลายข้อมูลต้นฉบับ และสามารถปรับคืนค่าเดิมได้ (non-destructive)
  2. การทำปรับแต่งให้คมชัดขึ้น (sharpen) และการลดสัญญาณรบกวน (noise reduction) จากตัวประมวลผลภาพ (image processor) ไม่มีผลต่อไฟล์แบบนี้ นั้นหมายถึง ภาพอาจจะไม่คมชัด หรือมีสัญญาณรบกวนมากกว่าไฟล์ JPG ที่ได้มาคู่กัน ต้องใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆ ปรับแต่งเพิ่มเติม
  3. จำนวนข้อมูลบิต (bit depth) ที่บันทึกลงในไฟล์นั้นมีข้อมูลที่มากกว่า เพราะ JPG มี 8 bit/channel ส่วน DNG มี 10 bit/channel ทำให้ JPG ไล่แฉดสีได้เพียง 256 แฉดสี ส่วน DNG สามารถไล่แฉดสีได้ถึง 1024 แฉดสีเลยทีเดียว ทำให้เวลาเราปรับแต่งแฉดสีใหม่หลังจากถ่ายภาพ ปรับโทน ดึง-เรียกกลับข้อมูลช่วงมืด-สว่างทำได้มากกว่าไฟล์ JPG
  4. ปรับแก้ไขสมดุลสีขาว (white balance) ได้ยืดหยุ่น และหลากหลายกว่าในระดับเคลวิน
  5. ปรับแต่งการใช้งาน ICC profile (colour space) ได้หลากหลาย ทั้ง ProPhoto RGB, Adobe RGB หรือ sRGB ได้
  6. ภายในไฟล์ DNG และไฟล์แบบ RAW โดยทั่วไปจะมีรูปภาพขนาดเล็ก (thumbnail) อยู่ภายในด้วย ทำให้เราดึงภาพเหล่านี้ออกมาโดยไม่ต้องแปลงภาพก่อน มักถูกนำไปใช้ตอนพรีวิวรูปภาพเป็นหลัก

แต่มีข้อที่เข้าใจผิดว่าการถ่ายรูปมาเพื่อให้ได้ไฟล์ DNG นี้จะได้ภาพที่คมชัดกว่า JPG นั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการปรับแต่บนข้อมูลที่มากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับความคมชัด แต่เป็นเรื่องของความหลากหลาย จากจำนวนข้อมูลที่มากกว่าเพื่อปรับแต่งได้หลากลายกว่า

จากภาพตัวอย่างด้านล่าง ภาพจะออกโทนฟ้ามากไป (4550K) มีบางส่วหลุดช่วงสีสว่างออกไป (Highlight)

2013-12-27_001444

ผู้เขียนทำการปรับค่าเคลวินให้ออกไปโทนอุ่นเล็กน้อย (5250K) ทำการปรับแต่งค่าอื่นๆ เร่งความสว่าง ปรับค่าความเปรียบต่างของสี ฯลฯ

2013-12-27_001453

ภาพดูสว่างไปนิด และหลุดช่วงช่วงสว่างไปมากกว่าเดิม ทำการดึงกลับมาด้วย Tone Curve

2013-12-27_001506

สุดท้ายก็จะได้ภาพที่มีโทนสีอุ่นอื่น และมีช่วงสีโดยส่วนใหญ่ไม่หลุดไปทางช่วงสว่างและมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น

2013-12-27_001528

จากด้านบนจะเป็นการปรับแต่งแบบง่ายๆ เร็วๆ เรามาดูตัวอย่างการปรับแต่งอีก 1-2 ตัวอย่าง โดยจะใช้งานร่วมกับ Adobe Photoshop CC ด้วย

จากตัวอย่างทั้งหมดต่อไปนี้จะใช้ Adobe Photoshop CC เพียงแต่ย่อรูปภาพลงมา และใช้การ Resapmle แบบ Bicubic Sharper (reduction) เพื่อเพิ่มความคมชัดของภาพ การทำการย่อรูปลง และทำ Resapmle ผ่านโปรแกรมภายนอกนั้น จะได้ภาพที่ดี และปรับแต่งได้หลากหลายกว่าในตัวมือถือมาก

โดยเราสามารถปรับแต่งในด้านการลดสัญญาณรบกวน (noise) ของภาพที่เราถ่ายได้อย่างหลากหลายมากด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้เราไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขตัวแอพจากผู้ผลิต เพื่อใช้ปรับแต่งหลังจากที่เราซื้อมา ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจเราในอนาคต

image

ภาพด้านล่างนี้หลุดโทนสว่างมากไปเช่นเดียวกับด้านบน

2013-12-27_025720

เปิดมาแล้วไปปรับแต่งที่ Tone Curve เพิ่มดึงค่าด้านสว่างกลับเข้ามา

2013-12-27_030001

เปิดไฟล์ที่แก้ไขเสร็จแล้วใน Adobe Photoshop CC แล้วก็ปรับแต่งภาพในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม (แล้วแต่ความชอบ)

WP_20131218_21_27_01_Raw__highres-wall

ตัวอย่างอื่นๆ ที่ใช้งานไฟล์ DNG ของ Nokia Lumia 1520 กับ Adobe Camera RAW และ Adobe Photoshop CC

2013-12-27_024129

WP_20131210_17_48_09_Raw__highres-wall

2013-12-27_022848

WP_20131207_17_58_31_Raw__highres-wall

2013-12-27_025223

WP_20131214_18_54_53_Raw__highres-wall

จากตัวอย่าง และการใช้งานจะเห็นได้ว่า การใช้ไฟล์ DNG ที่ได้จากกล้องถ่ายรูประดับบน ซึ่งถูกนำมาใส่ไว้ใน Nokia Lumia 1520 นั้น ทำให้เราสามารถสนุกกับการปรับแต่งรูปภาพได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น บางครั้งโทนสี การปรับแต่งอัตโนมัติของแอพจนได้รูปภาพออกมา อาจจะไม่ถูกใจเรา การนำภาพ JPG มาปรับแต่งภายหลังอาจจะไม่ยืดหยุ่นเท่ากับไฟล์ DNG และการได้ไฟล์ DNG ยังสามารถช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดหลายๆ อย่างหลังจากถ่ายรูปไปแล้วแม่นยำกว่า JPG อีกด้วย

เรื่องเล่าแสบๆ ของการจัดงานโดย SM True จากคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่สองของ Girls’ Generation ในไทย

นี่เป็นทัวร์คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ 3 ของสาวๆ Girls’ Generation และเป็นครั้งที่ 2 ของพวกสาวๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงเป็น World Tour ครั้งแรกของพวกสาวๆ ด้วย แน่นอนรอบนี้ก็หวั่นๆ ว่าจะได้จัดหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทางด้านการเมือง กลัวจะซ้ำรอยในช่วง Asia Tour ครั้งแรกที่คนไทยเราพลาดไปเพราะเหตุการณ์คล้ายๆ กัน แต่ในครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทำเอาโซวอนทุกคนมีความสุขกันทั่วหน้า ในเรื่องของการประสานงานในเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำรอยการยกเลิกคอนเสิร์ตลงนั้น ต้องยกเครดิตในการประสานงานให้กับ SM True เค้าไปสักหน่อย

แน่นอนว่ามีดีก็ต้องมีแย่ เริ่มต้นตอนแรกในของ blog คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่สองของ Girls’ Generation ในไทยด้วย ความชุ่ย ไร้ความรับผิดชอบ และมาตรการรับมือที่ดีพอของ Thai Ticket Major และ SM True โดย Thai Ticket Major เป็นผู้จัดจำหน่ายตั๋วที่ทำให้เกิดความผิดพลาดของการเข้าจองตั๋วที่มีความผิดพลาด ล่ม และมีปัญหาบัตรเกิด จนทำให้คนจำนวนหนึ่งพลาดการดูคอนเสิร์ตครั้งนี้ไปเพราะความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยอย่างมาก อ่านต่อที่ตอนเก่าที่เขียนไว้อย่างละเอียดได้ที่นี่ ระบบ ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้ความรับผิดชอบ และการให้เกียรติจาก ThaiTicketMajor กรณีบัตร GIRLS’ GENERATION World Tour ~Girls & Peace~ in BANGKOK แน่นอนว่าทาง Thai Ticket Major และ SM True แจ้งว่าจะมีเครื่องตรวจสอบบัตรที่ใช้ไม่ได้ก่อนเข้าคอนเสิร์ต แต่สรุปแล้ว ในวันแสดงจริง ไม่มีไอ้เครื่องที่ว่านั้นมาแสกนแต่อย่างใด เรียกว่าหลอกลวงต้มโซวอนให้ไปคืนบัตรเสียแบบนั้น (ผมก็คือหนึ่งในนั้น)

สำหรับการจัดการของ SM True ก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มที่ IMPACT ARENA เมืองทอง นั้น ส่วนตัวแล้วได้บัตรในส่วนโซน AR เจ้าปัญหา ดราม่าสุดๆ ซึ่งเป็นบัตรยืน โดยการจัดการค่อนข้างแย่มาก มีข้อกำหนดที่เพิ่งได้ประกาศก่อนวันงานไม่นาน (ถ้ารู้ว่าจัดห่วยแตกแบบนี้จะได้ไปหาที่นั่งราคาถูกกว่านี้) ซึ่งไม่เหมือนกันคอนเสิร์ตครั้งก่อน ที่มาก่อนเข้าก่อน แต่รอบนี้คือ ต้องไปเข้าแถวเพื่อรับคิวก่อนคอนเสิร์ตเริ่มตั้งแต่เที่ยงเป็นต้นไป และปิดการเข้าคิวตอนบ่าย 3 โมง โดยการรับคิวในระยะเวลาดังกล่าว จะใช้ลำดับของคิวตามหมายเลขบนบัตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ต่อให้คุณมารับคิวตอนเที่ยง ได้คิวคนแรก แต่ถ้ามีคนที่มีเลขคิวอยู่ก่อนหน้าคุณ และเค้ามาตอนบ่ายสองกว่าๆ เค้าก็สามารถแซงคิวคุณได้ทันทีโดยใช้หมายเลขบัตรที่มีก่อนคุณ ฉะนั้น จะไปนั่งรอหรือไปก่อนการจัดคิวในช่วงก่อนบ่าย 3 ทำไม ให้เสียเวลา เพราะมาก่อนก็ไม่มีประโยชน์ และเนื่องจากบัตรผมเป็นบัตรเจ้าปัญหาดราม่า มันเลยเป็นเลขบัตรที่อยู่อันดับท้ายมากๆ ฉะนั้น เสียเวลา ไปเดินเล่น หรือนั่งสบายๆ ที่ร้านกาแฟดีกว่า ก่อนบ่าย 3 ค่อนมาแทรกคิวก็ได้

สรุปง่ายๆ ว่าถ้าคุณซื้อตั๋วยืน คุณอาจจะต้องไปตั้งแต่ 12:00 น. และรอในคิวตั้งแต่ประมาณ 13:30 น. ในแถวที่ร้อนๆ จนถึง 17:00 น. โดยประมาณเพื่อเข้าคอนเสิร์ต แล้วยืนต่อในคอนเสิร์ตสนุกสนานอีก 3 ชั่วโมง แหม่…. ><”

image

image

ต่อมาคือเรื่องการแจ้งข้อกำหนดในการพกสิ่งของส่วนตัวเข้าไปในคอนเสิร์ตนั้น เพิ่งจะประกาศอย่างละเอียดหลังจากขายบัตรไปแล้ว และไม่มีข้อความภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาไทย (ผมดูแลโซวอนต่างชาติหลายคน ซึ่งต้องมาอธิบายให้เค้าทราบหลายๆ เรื่อง ด้วยภาษาที่สื่อสารได้ไม่มากนัก แต่พยายามสื่อสาร) ซึ่งไม่ใช่การแจ้งเตือนก่อนการซื้อตั๋ว หรือมีการประกาศล่วงหน้าอย่างเป็นการทั่วไปก่อนซื้อตั๋ว เช่นข้อกำหนดห้ามนำมือถือหน้าจอขนาด 5.5″ เข้าไป (จะบอกว่าประกาศก่อนก็ไม่ได้ เพราะไม่มีในประกาศใน facebook แน่ๆ) อีกทั้งก่อนคอนเสิร์ตเริ่ม ผมพก Tablet ขนาดเล็กที่หน้าจอเพียง 7″ ที่มีกล้องก็ห้ามเข้า แน่นอน ผมพก Tablet 7″ ไปเพื่อหวัง remote หรือเผื่อฉุกเฉินจากงานที่ทำ ก็ต้องฝากก่อนเข้าคอนเสิร์ตอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งอันนี้ถือว่ายอมรับในข้อกำหนดเพราะมันมีกล้อง (แต่ notebook เอาเข้าได้นะ ผมหล่ะเสียดาย พก notebook ไปก็จบ) แต่…. หลายๆ อย่างที่ขายหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นถุงกระดาษที่ขายเพื่อให้โซวอนได้เอามาใส่โปสเตอร์ที่ได้จากการเล่นกิจกรรม ต่างๆ ตามบูทก็ห้ามเอาเข้าไปซะเฉยๆ แบบนั้น โดยไม่มีข้อกำหนดใดๆ บอกล่วงหน้า (เพิ่งมาบอกตอนกำลังเข้าประตู) แถมพวกถุงกระดาษ กระเป๋าบางส่วน ต้องวางไว้อย่างตามมีตามเกิด ไม่รู้มีเจ้าหน้าที่ดูให้ไหม เพราะไม่มีการจัดพื้นที่เพื่อรับฝากอย่างเป็นระบบแบบเดียวกับพวกอุปกรณ์ Tablet หรือพวกกล้องถ่ายรูป ใดๆ เลย ตามด้วยแท่งไฟ ผมซื้อแท่งไฟมาเชียร์สาวๆ ใช้มาตั้งแต่คอนเสิร์ตรอบที่แล้ว ก็เข้าได้ มารอบนี้อยู่ๆ เจ้าหน้าที่บอกยาวกว่าที่กำหนด ผมเลยแย้งไปด้วยอารมณ์ว่า รอบที่แล้วก็เอาเข้าได้ เอาไม้บรรทัดมาวัดก็ได้ว่ามันไม่เกิน เจ้าหน้าที่ก็เงิบเล็กๆ แล้วก็ปล่อยผ่านเข้ามา สรุปพูดง่ายๆ คือ คิดอยากจะห้ามก็ห้าม ไม่มีความพร้อมในการกระสานงาน ออกประกาศอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานที่ชัดเจน ทำให้คอนเสิร็ตครั้งนี้มีระบบการจัดการก่อนเข้าคอนเสิร์ตที่แย่มาก ส่วนตัวเหนื่อย และหมดแรงหนักกว่ารอบที่แล้วอย่างมาก

image

WP_20140111_12_51_43_Pro

WP_20140111_15_18_12_Pro

1493237_10152167298841753_1936381692_n