เลิกเสียเงินกับ Google Apps/Evernote และหันมาใช้งาน Office 365 Small Business Premium

2013-03-10_190930

อันนี้เป็นการลองของก่อนขายจริง และในไทยยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ใช้งานแต่อย่างใด (งงๆ กับการเปิดตัวเหมือนกัน คือเปิดตัวแต่ยังไม่มีของขาย ><“)

ส่วนตัวเมื่อปีสองปีก่อนผมเสียเงินให้กับ Google ในบริการ Google Apps for Business (เว็บให้บริการด้านข้อมูลบนกลุ่มเมฆ (cloud services) ถ้าดีก็จ่ายเงินเค้าเหอะ) ก็จ่ายปีละ $50 (ตกเดือนประมาณ $4 กว่าๆ) เพราะอยากได้อีเมลความจุเยอะๆ ทำงานแบบ Cloud มีความสามารถในการทำ Wireless Sync กับมือถือได้ ตอนแรกใช้ BlackBerry ต่อมาใช้ Android และตอนหลังมาใช้ Windows Phone แล้วก็เลิกใช้ไปตอนช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาเพราะ ย้ายจาก Google Apps มา Windows Live Admin Center (Custom addresses) เพื่อใช้งานร่วมกับ Windows Phone 8 เพราะ Google Apps for Business มีปัญหาภาษาไทยกับ Windows Phone 8; พบข้อผิดพลาดในรหัสภาษาบน WP7.5/8 เมื่อตอบหรือส่งต่ออีเมลที่ใช้ร่วมกับ Google Mail เลยทำให้ยกเลิกการใช้งานไปโดยปริยาย ประหยัดไปปีละ $50 ไปก่อนแล้ว

สำหรับ Evernote นั้นที่ใช้แบบ Premium Account ก็คงเป็นช่วงเวลาประมาณเดียวกับที่ใช้ Google Apps for Business มาสักพักและใช้ Android Phone ใหม่ๆ พอดี ก็เลยได้ก็เสียเงินให้ Evernote แบบ Premium Account ไปเดือนละ $5 เพราะต้องการใช้ Notes ที่ทำงานบน Cloud ได้ มีระบบ PIN และ Offline Sync ไปพร้อมๆ กัน

เพราะฉะนั้นถ้าคิดรวมๆ กันระห่าง Google Apps for Business และ Evernote ตอนที่ผมใช้งานทั้งสองตัวควบคู่กันแล้ว ผมจะต้องจ่ายปีละ $100 เพราะ Evernote จ่ายเป็นรายปีราคาเท่ากับ Google Apps for Business เลย

2013-03-11_152005

แต่มาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ยกเลิก Evernote แบบ Premium Account ไป เหตุผลไม่ใช่เพราะโดน Hack อะไรหรอก แต่เป็นเรื่องราคาความและความคุ้มค่าของสิ่งที่จ่ายไปแทน ซึ่งตอนนี้ผมเสียเงินให้ Office 365 รุ่น Small Business Premium (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า Office 365 เฉยๆ) ในราคาค่าสมัครแบบเช่าใช้เดือนละ $15 (หรือตกปีละ $150) ต่อ 1 Username แทน ซึ่งด้วย 1 Username ที่ใช้ สามารถ sign-in เข้ากับ Microsoft Office 2013 เพื่อ activate ใช้งานได้ 5 เครื่อง (แต่ละเครื่องจะใช้ Username และ Password ของ Office 365 ในการ activate)  เพราะสิ่งที่ได้กลับมานั้นต่างกันมากมายเลยทีเดียว เพราะเจ้า Offie 365 รุ่นนี้มี Microsoft Office 2013 desktop version มาให้ด้วย โดยที่ให้มานั้นมี Microsoft Word, Excel, PowerPoint, Outlook, OneNote, Access, Publisher และ Lync นั้นจึงเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ซื้อแบบเช่าใช้แทนแบบ Retail version ตามปรกติที่ผมซื้อมาตั้งแต่ Microsoft Office 2007 และ Microsoft Office 2010 เพราะการเปลี่ยน version ของ Microsoft Office นั้นเริ่มถี่ขึ้นและการเปลี่ยน version ไป version ใหม่ๆ ของ Retail version ในราคาไม่หนีกับระยะเวลาการเช่าใช้งานแบบนี้เท่าไหร่ และอาจถูกกว่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการได้ Desktop version ที่ให้มา ซึ่งจากคุณสมบัติของ Desktop version แล้ว ยังมี Office Web Apps และ Office Mobile Apps มาให้พร้อมสำหรับทำงานนอกสถานที่มาให้พร้อมเลย

2013-03-11_152101

ซึ่งหลายคนคงงงว่าแล้วไฟล์จะเก็บไว้ที่ไหนทำงานบน Desktop version มันจะไปทำงานบน Office Web Apps และ Office Mobile Apps ได้ยังไง คำตอบคือ SkyDrive Pro ที่ให้พื้นที่เก็บไฟล์ 7 GB แยกต่างหากออกมาอีกที (แยกจาก SkyDrive ตัวปรกติ) ซึ่งเจ้า SkyDrive Pro ทำงานอยู่บน SharePoint อีกที ซึ่งเป็น Private Online storage ของ user ของเราเองโดยใช้ Username และ Password ที่ activate กับตัว Office desktop version นั้นแหละในการเข้าถึง SkyDrive Pro ใน SharePoint ได้อัตโนมัติผ่านตัว Office 365 ที่เราเปิดอยู่ได้ทันที เพราะฉะนั้น ใครจะเอาวิธีการซื้อ 1 User แล้วแชร์ 5 เครื่องโดยแต่ละเครื่องใช้คนละคน ก็ทำได้ ถ้าไม่ได้ใช้แบบแชร์เอกสารระหว่าง Device กัน แต่มันทำได้ยากถ้าไม่ตั้งค่าให้ดีๆ (เอกสารสำคัญอาจหลุดได้ง่ายๆ ถ้าใช้วิธีนี้) โดยจะมีรายการว่ามีเครื่องใดว่า activate อยู่บนหน้า Admin page ของ Office 365 ของเรา สามารถ deactivate ได้ และหน้านี้จะเป็นหน้าที่เข้ามาดาวน์โหลดตัว Microsoft Office 2013 desktop version ไปใช้งานได้ด้วย (เลือกได้ว่าจะเอา 32bit หรือ 64bit)

2013-03-11_145302

ต่อมาคือเรื่องของอีเมลซึ่งผมถือว่าเป็นของแถมที่เอามาเทียบชั้น Google Apps for Business ได้สบายๆ และอาจดีกว่าในด้านที่มันทำงานกับ Desktop version อย่าง Outlook 2013 ได้สบายๆ ผ่าน Microsoft Exchange ตัวเต็มบน Office 365 ซึ่งคล้ายๆ กับของ Hotmail และ Gmail เป็น Exchange ActiveSync (EAS) ที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน แต่ตัวนี้ใหม่สดกว่า คือ Sync Notes และ Task ได้ด้วย ซึ่ง EAS ของ Hotmail จะ Sync ตัว Notes และ Task ไม่ได้ ส่วนของ Gmail ทำได้เพราะ Google เขียนเพิ่มเติมผ่าน Outlook Sync ที่เป็น Desktop sync ที่ลงเพิ่มเติมเป็นของตัวเองและวิ่งเข้า Google Docs ที่ตัวเองมีแทน

2013-03-11_151845

โดยเจ้าระบบอีเมล Microsoft Exchange บน Office 365 ตัวนี้ใช้งานบนชื่อ Domain name ของตัวเองได้แบบเดียวกับ Google Apps for Business โดยให้พื้นที่ Username ละ 25GB เลยทีเดียว

นี่ยังไม่รวม Lync ที่ดูเหมือนจะยังไม่จำเป็นในตอนนี้ เพราะใช้อยู่คนเดียวอีกนะ ถ้าใช้หลายๆ คนอาจจะได้ใช้ความสามารถของมันภายในอีกเยอะ อย่าง Newsfeed ที่ด้านในเป็น Private Social Network สำหรับพนักงานด้วย นี่ยังไม่รวมเรื่องระบบ Call meeting, VOIP, PABX อะไรพวกนี้อีก ซึ่งผมว่ากว่าจะเข้าไทยไม่รู้ว่าต้องผ่าน กสทช. หรือเปล่านี่ดิ

2013-03-11_152206

และสุดท้ายตัว Office 365 มี Microsoft OneNote มาให้ และมันทำงานได้ดีกับ SkyDrive Pro ทำให้สามารถ Sync ข้อมูลบน Cloud ได้ทันทีเลย แถมมี Function เยอะกว่าเจ้า Evernote เสียด้วย

2013-03-11_152742

เพราะฉะนั้นถ้าดูแล้ว Office 365 Small Business Premium นั้นคือส่วนผสมของ Google Apps for Business, Evernote และ Microsoft Office Retail มารวมกันเลย ซึ่งสำหรับผม ถ้าลองคิดดูว่าผมเสียเงินรายปี 1-2 ปีและ Office Retail กล่องละ 6-7,000 บาทแล้ว ราคาโดยรวมแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ที่ต่างคือ ค่อยๆ จ่ายใช้งานเป็นแบบเช่าใช้แทน ทำให้ดูว่าค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่จ่ายดูน้อยและจ่ายได้ ราคาประมาณดูหนัง 1-2 เรื่อง หรือราคาเท่าๆ กับดื่มกาแฟ Starbucks 5 แก้ว อะไรแบบนั้น

เรื่องเล่าต่อจาก รายงานพิเศษ: Thai Programmer Crisis (แบไต๋ไฮเทค)

จริงๆ ผมพูดและนำเสนอความคิดในรายงานนี้ไปเยอะนะ แต่คงเพราะเวลาในการออกมีน้อยเพียง 5 นาที แถมมีส่วนที่ทำสรุปไว้แล้ว เลยได้ออกบางส่วนไม่ได้ทั้งหมด ผมเข้าใจได้นะ เพราะประเด็นมันเยอะมาก จนคนมานั่งฟังคงร้องบอกว่า “เออ พอเหอะ กูเข้าใจแล้ว”

ปัญหาเรื่องนี้มันมีหลายมิติ คุยกันทั้งวันก็ไม่จบ แถมจะกลายเป็นมานั่งปรับทุกข์ชีวิตสายวิชาชีพนี้กันเปล่าๆ

ส่วนตัวผมคิดว่าเพราะขั้นตอนวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยโดยบริษัททั่วไป ยังไม่มีความชัดเจนและแนวทางในการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ใช้การลองผิดลองถูกกันเยอะ หรือใช้มาตรฐานวิธีการทำงานจากงานแนวๆ สายอาชีพอื่นมาใช้ ซึ่งก็อาจจะออกแนวดันทุรังให้จบๆ ไปได้ แต่สุดท้ายงานก็ตกอยู่กับคนระดับปฎิบัติงานด้านล่าง (ข้อมูลนี้ได้มาจากเพื่อนๆ ในสายอาชีพผมหลายๆ คนที่มานั่งปรับทุกข์กันอยู่เรื่อยๆ)

ส่วนตัวผมเจอเพื่อนๆ ที่เขียนโปรแกรมเข้าขั้นใช้ได้ตอนเรียนจบ ซึ่งในรุ่นผมค่อนข้างหายากอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทำงานสายนี้ ไปสมัครเป็นทหาร ไปเป็นพ่อค้าขายมะลิ ขายข้าวแกง หรือไปขายหมูปิงก็มี เพราะสบายกว่า เสียสุขภาพน้อยกว่า ทำงานจบวันนึงก็คือจบ กลับบ้านอยู่กับครอบครัวแล้วไม่โดนตามงานตอนดึกๆ แถมเงินที่ได้ก็ไม่หนีกันมาก (หรืองานบางตัวก็รายได้ดีมากๆ) ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ลองก้าวออกจากสายอาชีพนี้เพื่อนๆ ผมเค้าอาจจะไม่ค้นพบความสุขในแบบที่เค้าต้องการ (ส่วนผมยังสนุกกับการแก้ไขปัญหาอยู่ ไม่แน่ใจว่าหมดไฟเมื่อไหร่ ฮาๆๆๆ)

บางครั้งมันไม่ใช่เรื่องค่าตอบแทนและสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ที่วิธีการทำงาน ที่สร้างความภาคภูมิใจในฐานะคนที่สร้างงานเหล่านั้นขึ้นมาด้วย หากแต่คนที่จ้าง คนที่สั่งงานไม่เห็นคุณค่าในฐานะคนสร้างงานแล้ว ก็ยากที่จะทำให้พวกเค้าเหล่านั้นทำงานให้เราได้เต็ม 100% (หรือมากกว่า) เมื่อคนเหล่านี้หมดความภาคภูมิใจในการทำงานนั้นๆ ผมคิดว่าก็ไม่มีใครอยากอยู่ในวิธีการทำงานนั้นๆ และอาจะลากยาวไปถึงชีวิตในสายอาชีพนี้ ที่วันๆ ถูกกดอยู่ในความไม่ภาคภูมิใจในตัวเองสักเท่าไหร่หรอกครับ

แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่า “ไอที” โลกของมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นงานสายงานอาชีพนี้ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ได้ ส่วนตัวผมเองนั้น ทุกๆ วันหลังจากทำงาน ก็ต้องมานั่งอัพเดทตัวเอง เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ดีมากขึ้นหรือต้องเช็คว่าตัวซอฟต์แวร์ที่เรากำลังพัฒนาอยู่นั้น ในบางส่วนของระบบมีช่องโหว่หรือความผิดพลาดอะไรหรือไม่จากการเจอ bug จากส่วนพัฒนาที่ต่อยอดออกมา และรวมไปถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งทำให้งานนั้นออกมาเร็วทันใจลูกค้าด้วย

สุดท้าย นี่ไม่ใช่การบอกว่าสายอาชีพนี้ทำงานหนักที่สุดในโลกหรอก โลกนี้ยังมีงานอีกมากมายที่หนักกว่านี้เยอะ รับความเสี่ยงมากเดี่ยวเช่นกัน แต่นั้นไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่เอาปัญหาของสายอาชีพของเราออกมาตีแผ่หรือมานั่งคิดว่า “ทำไม” มันถึงเกิดปัญหาขาดแคลนหรือคนไม่อยากทำงานในสายอาชีพนี้ เพราะถ้ามันมีปัญหาและไม่ตีแผ่ออกมาแล้วซุกมันไว้ มันก็จะเป็นอย่างเดิม (เหมือนมี bug แต่ไม่ยอมแก้ ปล่อยๆ มันไปแบบนั้น) ผมเชื่อว่าถ้าสายอาชีพอื่นๆ อยากทำบ้าง ก็ต้องดิ้นกันไปตามช่องทางที่ตัวเองมีครับ

ผมเชื่อว่า “กรรมกรไอที” ไม่ได้เกิดมาเพราะคิดขึ้นเองโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับคำนี้จริงๆ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และผมเชื่อว่ามีคนยังคิดแบบนี้ในอนาคตแน่ๆ

เอ้าาาา เอาเหอะ บ่นไปแล้วก็ทำงานกันต่อครับ อย่าไปคิดมาก ปัญหามันต้องแก้ไข ไม่ใช่ซุกไว้แล้วบอกว่า “ก็มันยังทำงานได้ปรกติดีนิ” ซึ่งมันไม่ใช่วิถีคนสายอาชีพของเรามั้งครับ และส่วนตัวผมยังอยู่ในสายอาชีพไอทีที่ยังใช้วิถีและวิชาที่ได้จากการเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่เรื่อยๆ ทุกๆ วัน เพราะตอนนี้ไม่ได้นั่งโค้ดมันอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว แต่ต้องเป็นได้มากกว่านั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวเองตามแนวทางคนทำงานด้านไอทีที่เปลียนแปลงอยู่ตลอดเวลาครับ ;)

ส่วนเรื่องสาวๆ ในสายอาชีพนี้เนี่ย ออกแนวเฮฮา แซวกันเฉยๆ คือไม่มีใครคิดกันจริงจังมากมายจนเป็นปัจจัยในการเลือกหรือไม่เลือกทำงานในสายอาชีพนี้เท่าไหร่หรอกมั้ง -_-”

ด้านล่างวิดีโอตัวแรกนี่ดูดีมากสำหรับ Software Engineer เลยนะ นี่มันโลกความฝันที่หาได้ยากในบ้านเราครับ

Day in the life…Software Engineer

แบไต๋ไฮเทค – รายงานพิเศษ: Thai Programmer Crisis

ข้อมูลเพิ่มเติมจากการขอคืนเงินค่าสมาชิกนิตยสาร Thailand Bloomberg BusinessWeek จากทาง AQ Innova Co.,Ltd.

จากกรณี จดหมายจาก Bloomberg Businessweek Thailand เรื่องแจ้งสมาชิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และความไร้ความรับผิดชอบของนิตยสาร ผมก็ได้อีเมลไปตามข้อมูลที่ได้แจ้งไว้ และวันนี้ก็ได้มีอีเมลแจ้งกลับมามีใจความตามด้านล่างนี้ครับ

ทางบริษัทฯ กำลังทยอยจัดส่งจดหมายชี้แจง รวมถึงรายละเอียดของนิตยสารสมาชิกแต่ละท่านเพื่อให้ลูกค้ารับทราบข้อมูล และเข้าใจตรงกัน

ซึ่งรวมถึงในส่วนของรายละเอียดของการคืนเงินให้ลูกค้าด้วยค่ะ

ทางบริษัทฯต้องขออภัยมายังลูกค้า ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ด้วยความนับถืออย่างสูง

Suphaphen Ratchatasetha
AQ Innova Co.,Ltd.

ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมผมจะทยอยแจ้งให้ทราบกันต่อไปครับ

จดหมายจาก Bloomberg Businessweek Thailand เรื่องแจ้งสมาชิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และความไร้ความรับผิดชอบของนิตยสาร

ส่วนตัวแล้วนั้นผมซื้อนิตยสาร Businessweek Thailand ตั้งแต่เล่มแรกที่พิมพ์แปลเป็นภาษาไทย และไม่เคยซื้อตกหล่นแม้แต่เล่มเดียว อ่านทุกเดือนเรื่อยมา แต่มา 2-3 วันที่ผ่านมา เพิ่งได้รับ Bloomberg Businessweek Thailand  เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาโดยสมัครสมาชิกจำนวน 3 ปีกับ Bloomberg Businessweek Thailand  ไม่เคยได้รับนิตยสารตรงเวลาแม้แต่เดือนเดียว รวมแล้วน่าจะ 5 เดือนแล้วมั้ง มีอยู่เดือนที่ผมทนไม่ไหว ซื้อจากแผงมาอ่านแทนเลย เพราะทนไม่ไหวกับการล่าช้าต่อการจัดส่ง แต่ในวันนี้เพิ่งได้หยิบนิตยสารขึ้นมาอ่านพลิกๆ ไปเจอจดหมายพอดี แล้วก็ตกใจพอสมควรกับสิ่งที่อยู่ในจดหมาย สรุปง่ายๆ ผมขอถ่ายรูปจดหมาย และโพสไว้ด้านล่างแล้วกัน

“เนื่องจากการสมัครสมาชิกของท่านได้ดำเนินการโดยบริษัท AQ Innova Co., Ltd และทางเรา (Bloomberg Businessweek Thailand) ไม่ได้รับการชำระเงินจากบริษัทดังกล่าวเลย ดำนั้น เราจึงไม่สามารถให้สถานะการเป็นสมาแก่ท่านได้อีกต่อไป ขอแนะนำให้ท่านติดต่อไปยังบริษัทดังกล่าวโดยตรงเพื่อขอคืนเงินเต็มจำนวน”

WP_20130306_001

ส่วนตัวแล้วนั้น ทาง Bloomberg Businessweek Thailand ในฐานะผู้มอบอำนาจให้กับบริษัทดังกล่าว ส่งจดหมายปัดความรับผิดชอบแบบนี้ด้วยการให้ลูกค้าไปไล่เบี้ยกับบริษัทดังกล่าวเองนั้น ผมว่าเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบของตัวนิตยสารเองด้วย เพราะผมก็ไม่รับรู้ว่าใครจ่ายเงินใครยังไง เพราะตอนสมัครบริษัทดังกล่าวก็ได้แจ้งว่าเป็นตัวแทนของนิตยสาร Bloomberg Businessweek Thailand ในการรับผิดชอบการสมัครสมาชิก ซึ่งตัวผู้เป็นคนมอบหมายต้องรับผิดชอบด้วยซ้ำไปในกรณีนี้ และการมาอ้างว่าเก็บเงินไม่ได้นั้น ส่วนตัวแล้วไม่เกี่ยวกัน เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ผู้มอบอำนาจตัวแทนต้องไปฟ้องร้องกันเองกับตัวแทนของตัวเอง ส่วนตัวลูกค้าไม่เกี่ยวด้วยซ้ำไป เพราะใครจะไปทราบได้ว่าตัวแทนจะทำพฤติกรรมแบบนี้ในภายหลัง

และหลังจากได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้วนั้นผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ผมถือว่าในกรณีนี้ Bloomberg Businessweek Thailand เองก็ไม่มีความรับผิดชอบต่อตัวสมาชิกของตัวเอง และไม่จริงใจในการทำธุรกิจเช่นกัน เพราะเป็นการปัดความรับผิดชอบของตัวเองให้กับตัวสมาชิกที่ทำการสมัครสมาชิกผ่านตัวแทนที่ตัวเองมอบหมายงานเช่นเดียวกัน

มันอาจไม่เกี่ยวกับวัสดุในการผลิตตัวมือถือก็ได้

จาก ซัมซุงอธิบาย เหตุผลที่ใช้พลาสติกเป็นวัสดุเพราะความทนทาน-ผลิตง่าย นั้นส่วนตัวแล้วผมก็เข้าใจได้นะแต่….. การทำให้มันบางลงก็เรื่องนึง แต่ทำออกมาแล้วมันแตกหักง่ายมันก็อีกเรื่องนึง แต่ถ้าทำหนาขึ้นและทนทานขึ้น และทำให้ดูดีกว่านี้จนดูมีราคามันก็ทำได้นะ แต่มันอยู่ที่จะทำหรือเปล่า เพราะยี่ห้ออื่นๆ เค้าก็ใช้กันอยู่ อาจจะผสมโน้นนี่ลงไปเพื่อเพิ่มความทนทาน ผมก็เห็นเค้าใช้ๆ กันอยู่บ่อยๆ

คือจากกรณีนี้ต้องมาตีความหมายของคำว่า “ทนทาน” ก่อนว่าจะให้ทนทานในแง่ไหน เพราะ S3 ที่ออกแบบมาฝาหลังมันไม่ได้ทนทานอย่างที่เล่าลือกันมาสักเท่าไหร่ แถมบางครั้งเจอฝาหลังสีไม่เหมือนกันในแต่ละลอตก็มี ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าการควบคุมการผลิตมันเป็นยังไง

คือเรื่องเอาพลาสติกมาใช้ในตัวถังนั้น ผมไม่ได้มีปัญหาใดๆ เพราะตัวถัง Notebook อย่าง ThinkPad เมื่อก่อนก็พลาสติก ABS ปรกติ ไม่มีโครง magnesium ด้วย (พวกรุ่นเก่าๆ อย่าง T43) วิศวกรก็ยังทำให้ทนทานได้นะ (มีวิดีโอโชว์พาวโยนกันให้เห็นๆ กันอยู่บ่อยๆ) ของแบบนี้มันอยู่ที่วิธีการและวิธีคิดในการออกแบบควบคู่กับความทนทาน คนใช้ Apple Macbook รุ่น polycarbonate คงเข้าใจในสิ่งที่ผมพูดดี เพราะขนาด polycarbonate ใน Macbook รุ่นนั้นยังแตกได้ แสดงว่ามันอาจไม่เกี่ยวกับวัสดุ แต่เกี่ยวกับการออกแบบในภาพรวมเป็นหลักมากกว่า