จริง ๆ ในเรื่องวลีนี้เนี่ย ผมก็เซง ๆ กับมันมาหลายปีดีดักแล้ว แต่ว่าก็พยายามไม่สนใจ เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ได้ยาก ก็จะเจอคำนี้มาให้ได้ยินทันที ผมก็ได้แต่เซง ๆ วันนี้ด้วยความเบื่อ ๆ หลาย ๆ อย่างเลยเข้าห้อง หว้ากอ ในเว็บ Pantip.com ก็ได้เจอกระทู้นี้เข้า
คำว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ขัดขวางการพัฒนาวิทยาศาสตร์หรือเปล่าครับ
ซึ่งได้อ่านไปได้สักพักถึงได้รู้ว่าเป็นกระทู้ที่เดจาวูในห้องนี้มาหลาย ๆ ปีแล้ว แต่ผมอาจจะพลาดไปในช่วงที่ผ่านมา แล้วไปสะดุดกับความคิดเห็นหนึ่ง จึงขอนำมาเก็บไว้สักหน่อย
ความคิดเห็นที่ 14
"ขอยืมคุณเพ็ญชมพูมาจากกระทู้หนึ่ง แต่จะกระทู้ไหนก็ช่างมันเถอะ
อึด อัดกับวลีนี้มานาน เมื่อไรสังคมไทยจะฮิตคำว่า "ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้" สักที เมื่อนั้นเหตุการณ์ที่เกิดกับน้องเทเลทับบี้ใน # ๔๑๓ คงไม่เกิดขึ้น haha
ขอเชิญอ่านความคิดเห็นของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว. วชิรเมธี จากนิตยสารแพรว ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
วลี ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" สะกดคนไทยมาหลายสิบปีแล้ว และหากเราไม่ลุกขึ้นมาพิจารณาวลีนี้อย่างจริงจังสักทีหนึ่ง คนรุ่นหลังก็จะถูกสะกดทางจิตวิญญาณต่อไปอีกยาวนาน
ในครั้งพุทธกาลเคย มีชาวบ้านถามพระพุทธเจ้าว่า บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายต่างบอกว่าตนเป็นผู้ "รู้แจ้ง" ทั้งนั้น จนไม่รู้จะเชื่อใครดี ในกรณีนี้ควรจะมีท่าทีอย่างไร แทนที่พระพุทธองค์จะตรัสว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ต่อเจ้าลัทธิเหล่านั้น แต่กลับตรัสว่า "ไม่เชื่อต้องศึกษา" และผู้เขียนต่อให้อีกประโยคหนึ่งว่า "ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้" ท่าทีของพุทธต่อความเชื่อที่ถูกจึงควรหนีจากวลีที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น "ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"
ย้ำชัด ๆ อีกครั้ง เราคนไทยต้องเปลี่ยนจากท่าที "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น
"ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"
อย่ากลัวคำขู่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" อีกเลย วลีนี้ "มัดตราสัง" จิตวิญญาณของสังคมไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาทางปัญญามานานแล้ว มาถึงยุคสมัยของเรา เราควรจะลุกขึ้นมาปลดตราสังนี้ทิ้งไปเสีย สิ่งใดที่ไม่เชื่อก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นความลึกลับดำมึดต่อไป แต่ควรตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นมีพัฒนาการอย่างไร ไยจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจคนมากมายได้ ขอเพียงรู้จักตั้งคำถามว่า "ทำไม" เท่านั้นเอง อวิชชาจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาอย่างง่ายดาย เช่น ครั้งหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบคนตาย แล้วทรงถามตัวเองว่า "ทำไมเขาถึงตาย" กระบวนการค้นหาคำตอบทำให้ทราบว่า ที่คนต้องตายก็เพราะมีการเกิดเป็นสาเหตุ ทรงถามต่อว่า ทำไมจึงมีการเกิด ก็ทรงค้นพบว่าเรายังมีตัณหา ความต้องการสืบทอดตัวตน และคำถามเหล่านี้เองเป็นจุดตั้งต้นแห่งการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา
ไม่น่าเชื่อว่าคำถามแสนธรรดาที่เกิดขึ้นระหว่าการเดินทาง จะกลายเป็นที่มาของศาสนาสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก
ใน เรื่องเดียวกันนี้หากเด็กไทยสักคนหนึ่งเดินทางไปตามถนนกับคุณแม่แล้วพบคนตาย เจ้าหนูถามแม่ว่า "แม่ฮะ ทำไมคนจึงตาย" แทนที่แม่จะตอบว่า "ลองคิดดูสิลูก ว่าทำไมคนเราจึงตาย" คำตอบที่ได้อาจเป็น "เงียบนะ ถามอะไรบ้า ๆ เดี๋ยวผีก็หลอกหรอก ขอขมาคนตายเดี๋ยวนี้เลย"
หรือพอเด็ก ๆ เห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ห้อยเทพเต็มคอแล้วถามว่า "แม่ฮะ เทพมีจริงไหม" แทนที่แม่จะสอนว่า "ลองคิดดูสิ ถ้าเทพไม่มีแล้วทำไมคนจึงนับถือท่านล่ะ" แม่อาจตอบว่า "หยุดนะลูก เทพมีจริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เชียว"
พอเจอคุณแม่นัก "ดับฝัน" อย่างนี้ กระบวนการแห่งปัญญาของเด็กก็เป็นอันสิ้นสุด คนไทยส่วนใหญ่มักทำฆาตกรรมทางปัญญากันด้วยท่าทีเช่นนี้เสมอ ทำให้ทัศนะ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มีอิทธิพลเหนือจิตใจคนไทย การค้นพบภูมิปัญญาใหม่ ๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทยมากนัก บ้านเราจึงมีแต่นักลอกเลียนแบบกระจายกันไปทุกวงการ เพราะเราไม่ค่อยถูกสอนให้คิดเชิงวิเคราะห์
ตอนเด็ก ๆ กาลิเลโอ มักเบื่อและขัดใจเสมอเมื่อได้ยินครูเอาแต่พูดว่า "อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า… " และเมื่อที่สุดแห่งความเบื่อเดินทางมาถึง กาลิเลโอจึงลงมือพิสูจน์ทฤษฎีของเขาที่หอเอนปิซา จนทฤษฎีของอริสโตเติลพังทลายลงไป จากนั้นเขาก็กลายเป็นปัญญาชนคนใหม่ของโลก และมนุษยชาติอีกจำนวนนับไม่ถ้วนก็ถูกปลดจากขื่อคาตราสังของความเชื่อฝังหัว ที่ถูกส่งทอดมา ภายใต้แบรนด์ "อริสโตเติล" นับร้อย ๆ ปี
มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะมี "ปัญญาเป็นของตัวเอง" มาตั้งแต่เกิด ขอเพียงให้รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างอยู่เสมอ "
ขวดนม . . .
จากคุณ : ไม่มีสมาชิกชื่อนี้ – [ 7 ธ.ค. 51 20:22:40 ]
ถึงแม้จะเป็นการคัดลอกมาจากอีกหลาย ๆ กระทู้ตาม แต่ผมว่าเป็นคำตอบในเชิงสร้างสรรค์ที่ดี ที่ครรจะทำให้ใครหลาย ๆ คนตาสว่างได้บ้างไม่มากก็น้อย
แนะนำให้ดูซีรี่ย์ญี่ปุ่นเรื่อง Galileo ทางช่อง TPBS ทุกวันพฤหัส-ศุกร์ ครับ แล้วน่าจะเข้าใจอะไรมากขึ้นในเรื่องวิธีคิดที่ว่ามา อ่อ ลืมบอกไปว่า Team Medical Dragon ภาค 2 กำลังจะมานะครับ ;P
ชอบๆ ประโยคนี้จัง “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้”
ไม่มีความเห็นเลยเรื่องนี้ TT”
เรื่องนี้ ผู้รู้บอกว่า ที่มาของวลีข้างบนหมายถึง ถ้าเราไม่เชื่ออย่าไป “ลบหลู่คนที่เชื่อ” แบบว่าไปล้อหรืออะไรอย่างนั้น จะทำให้เกิดความขัดแย้งมองหน้ากันไม่ติด แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า อย่าไปลบหลู่เรื่องที่ไม่เชื่อซะงั้น มันผิดมาตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกแล้ว มันก็ผิดต่อไปเรื่อย
ส่วนไม่เชื่อแล้วต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้ นี่เห็นสมควรต้องปลูกฝังกันอย่างเร่งด่วน
ขอบคุณครับที่เอาเรื่องราวดีๆมาให้อ่าน ชอบมากครับ “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้”
ถ้าผมมีลูก ก็จะสอนลูกแบบนี้นะครับ
แต่ตตอนนี้ สอนตัวเองก่อน
*0*
ถ้าเปลี่ยนเป็น “ถ้ายังไม่มีปัญญาพอที่จะพิสูจน์ ก็อย่าเพิ่งลบหลู่” จะฟังดูเหตุผลกว่ามั้ยคะ
ถ้าเปลี่ยนเป็น “ถ้ายังไม่มีปัญญาพอที่จะพิสูจน์ ก็อย่าเพิ่งลบหลู่” จะฟังดูเหตุผลกว่ามั้ย
โดยส่วนตัวคิดว่าประโยคนี้ไม่ต่างอะไรกับปรโยคไม่เชื่ออย่าลบลู่ เพราะทำให้คนมีแนวโน้มที่จะไม่ไปพิสูจน์และมีความสร้างสรรค์น้อยกว่า ประโยคที่ “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้” เป็นประโยคที่สร้างสรรค์กว่ามากในแง่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ