ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ควรควบคุมการเผยแพร่

จากกรณีในกระทู้ กลโกงบัตรเครดิตรูปแบบใหม่เพื่อเอาเงินจากบัตรเครดิต เข้าสู่บัญชี E-Wallet ยี่ห้อหนึ่ง ส่วนที่น่าสนใจคือ ข้อมูลบุคคลของลูกค้าหลายๆ อย่าง เป็นข้อมูลที่หาได้ไม่ยากนักตาม social network ต่างๆ บางอย่างเป็นข้อมูลที่ลูกค้าเผยแพร่โดยไม่ตั้งใจ  ตัวอย่างเช่น

  • หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน (อยากโชว์บัตรหน้าบัตรใหม่ หรือหลุดจากการเผยแพร่ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ)
  • วันเดือนปีเกิด (มาพร้อมๆ กับพวกชอบโชว์บัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลที่เผยแพร่ผ่าน social network หลายๆ บริการ)
  • ที่อยู่ตามภูมิลำเนา
  • ที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารในบริการนั้นๆ (ใบแจ้งหนี้ที่มักไม่ได้ทำลายจนอ่านไม่ได้ก่อนทิ้ง)
  • หมายเลขบัตรเครดิต (ในกรณีของบริการบัตรเครดิต ในบิลแจ้งหนี้จะมีส่วนของบาร์โค้ดที่ผ่านหมายเลขบัตรเครดิตได้อยู่)
  • วงเงินที่ใช้ในบริการนั้นๆ (ในกรณีของบริการบัตรเครดิต หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ที่มักมาพร้อมๆ กับใบแจ้งหนี้เสมอ)
  • หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ผูกกับบริการนั้นๆ 

จากทั้งหมดที่ว่ามา ควรควบคุมการใช้งานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าเคยใช้และให้ใครไปบ้าง ส่วนใบแจ้งหนี้ควรทำลายใบแจ้งหนี้ที่ไม่ใช้แล้วทิ้งแบบอ่านไม่ออกไป (จะเผาหรือใช้เครื่องทำลายเอกสารก็ว่ากันไป) เพราะในนั้นมีข้อมูลสำคัญอยู่เสมอๆ ทั้งนี้ใบเสร็จรับเงินที่ใช้รหัสสมาชิก หรือพวกบิลบริการ delivery ก็มีที่อยู่ของเราอยู่ในนั้นพร้อมชื่อ ก็ควรทำลายทิ้งด้วยวิธีการเดียวกันเช่นกัน ตรงนี้ต้องอาศัยความใส่ใจพอสมควร เป็นไปได้เก็บบิลทุกอย่างมาทำลายทิ้งที่บ้านน่าจะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ

เพราะการถูกโจมตีแบบนี้นั้น สามารถกระทำได้ผ่านข้อมูลส่วนบุคคลพื้นฐานที่เราได้เผยแพร่อย่างทั่วไป ซึ่งนำมาสู่การขโมยตัวตน เพราะในขั้นตอนการยืนยันตัวตนนั้น เราใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ในการทำหน้าที่แทนตัวบุคคลเพื่อยืนยันตัวตน และการโจมตีด้วยวิธีการนี้ไม่ต้องใช้ความชำนาญทางคอมพิวเตอร์มากนัก แต่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ที่เป็นเป้าหมายก็เพียงพอแล้ว

เมื่อข้อมูลพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญ ควรใส่ใจต่อการเผยแพร่และควบคุมการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้การขโมยตัวตนของเราเพื่อไปปลอมแปลงการทำธุรกรรมได้ยากขึ้น