@FordAntiTrust

ต้อนรับทีวีดิจิตอล กับ Set-Top Box “SAMART STRONG (DVB-T2)” สำหรับดูทีวีดิจิตอล

ก่อนอื่นต้องแนะนำเรื่อง “ทีวีดิจิตอล” สักหน่อยว่า ทีวีดิจิตอลที่เพิ่งประมูลเสร็จไปนั้น เป็นลักษณะของการออกอากาศในระบบภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television) โดยเปลี่ยนรูปแบบการส่ง-รับสัญญาณไปบ้าง โดยส่วนหลักๆ คือเปลี่ยนสัญญาณภาพ-เสียงจากแอนะล็อกเป็นดิจิตอลทั้งหมด จากเดิมที่จำนวนช่องน้อย ใช้เสาแยกจากกัน และมักเกิดการกวนกันของสัญญาณถ้าช่วงความถี่ใกล้กันเกินไป ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวคิดหลายๆ ส่วนคือ

  1. การออกอากาศของทีวีดิจิตอลในไทยจะส่งด้วยมาตรฐานชื่อ DVB-T2 (Digital Video Broadcasting – Second Generation Terrestrial) โดยส่งผ่านผู้ให้บริการเครือข่าย (operator) โดยตอนนี้กำหนดไว้ 4 ราย ได้แก่ NBT, ททบ. 5, MCOT และ ThaiPBS โดยทั้ง 4 รายจะเป็นผู้รับผิดชอบส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทั้งหมดกว่า 48 ช่อง ออกไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้ามาตรฐาน DVB-T2 นี่ถือว่าใหม่ และทันสมัยมีประสิทธิภาพดี
  2. ตัวรับสัญญาณก็ต้องรองรับมาตรฐาน DVB-T2 ด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้ทีวีรุ่นใหม่มากๆ ของปีนี้ ก็ได้ติดตั้งมาให้ภายในแล้ว แต่ถ้ารุ่นเก่าบางรุ่น หรือรุ่นทำตลาดล่วงหน้าสักปีสองปีอาจจะไม่มี ก็ต้องอาศัยกล่องรับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอล (Set-Top Box) มาต่อเพิ่มเติม

แนะนำไปพอสมควร มาพูดถึงพระเอกของเราวันนี้ก่อนกับ SAMART STRONG (DVB-T2) ที่เป็นกล่องรับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอลรุ่นแรกๆ โดยคนไทย ราคาเพื่อคนไทยกับ 1,155 บาท แน่นอนว่า ราคาไม่แพงสำหรับผมสักเท่าไหร่ โดยหลังจากการประมูลช่องทีวีดิจิตอลสำหรับธุรกิจทั้งหมด 24 ช่อง ในวันที่ 26-27 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านไปแล้วทาง กสทช. ก็รู้รายได้จากการประมูลกว่าห้าหมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำเงินบางส่วนมาช่วยประชาชนบางส่วนผ่านทางคูปองที่ กสทช. จะแจกให้แต่ละครัวเรือนเป็นส่วนลดในการนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอล โดยระบุว่าราคาจะอยู่ที่ 690 บาท ส่วนตัวผม ซื้อก่อน เพราะรู้อยู่แล้วว่ากว่าจะได้คูปอง (ช่วงเดือน เม.ย.) กว่าจะออกข้อกำหนด ก็ไม่แน่ว่าจะได้หรือเปล่า เลยชิงซื้อ SAMART STRONG (DVB-T2) จาก Home Pro, The Power สาขาเพลินจิตมาลองของเสียเลย ต้อนรับทีวีใหม่ (เพราะช่วงเดือนมกราคม 2558 ตามแผน กสทช. จะยุติการส่งสัญญาณแอนะล็อกแล้ว)

มาดูหน้ากล่องกัน จะได้ไม่ซื้อผิดรุ่น จะมีป้าย DVB-T2 และป้ายน้องดูดีด้านหน้าชัดเจน

ภายในกล่องจะมีสาย RCA AV, สาย HDMI, รีโมท, power adapter, แบตเตอรี, คู่มือ (ทำออกมาดีมาก) และใบรับประกัน มาให้พร้อมในกล่องเลย

ด้านหน้าจะเป็นส่วนรับสัญญาณรีโมท และไฟบอกสถานะ

ข้อสังเกต ส่วนของตัวกล่องนั้น ไม่มีปุ่มปิด-เปิด ต้องถอดปลั๊ก หรือสแตนบายอย่างเดียวเลย

ด้านใต้ไม่มีอะไรมากนอกจาก S/N กับป้ายตรวจรับจาก กสทช. ฉะนั้นซื้อรุ่นนี้ ใช้ได้แน่นอน และถูกต้องตามกฎหมาย

ด้านหลังมีช่องเสียบสายสัญญาณหลากหลาย (ไล่จากด้านซ้ายไปขวา)

  1. ช่องเสียบสายแผงเสาอากาศเพื่อนำสัญญาณเข้ากล่อง ส่วนตัวผมใช้เสาหนวดกุ้ง ราคา 200-300 บาท ซึ่งเป็นเสาขนาดเล็กแบบเดิมๆ ไม่ต้องใช้เสาแปลกประหลาดอะไร
  2. ช่องเสียบสายแผงเสาอากาศเพื่อนำสัญญาณออกจากกล่องต่อพ่วงกันตัวกล่องหรืออุปกรณ์ตัวอื่นๆ อันนี้เอาไว้พ่วงกับกล่องหรือทีวีตัวอื่นๆ เพื่อใช้เสาร่วมกันได้
  3. ช่องกลาง-ซ้ายบน ต่อสาย COAX
  4. ช่องกลาง-ซ้ายล่าง ต่อสาย RCA แบบ AUDIO (L)
  5. ช่องกลาง-ขวาบน ต่อสาย RCA แบบ VIDEO
  6. ช่องกลาง-ขวาล่าง ต่อสาย RCA แบบ AUDIO (R)
  7. ช่อง HDMI

ด้านซ้ายจะเป็นช่องต่อ adapter ตัวนี้กินไฟประมาณ 6W เมื่อเปิดใช้งานและช่วงสแตนบายกินไฟประมาณ 0.5W

ด้านขวาต่อ USB 2.0 ได้ด้วย มาดูกันว่าเอาไปทำอะไรได้บ้าง

ตัวรีโมทเป็นภาษาไทยอ่านง่าย เข้าใจไม่ยาก ไม่ต้องกลัวว่าผู้ใหญ่อายุมากๆ หรือคนไม่เก่งภาษาอังกฤษจะใช้งานลำบาก

แน่นอนภายหลังจากต่อครบแล้วต่อไปเวลาเราเปลี่ยนช่อง เราจะใช้รีโมทนี้ในการเปลี่ยนช่องแทนรีโมททีวีของเราหลังจากเลือกที่จะดูผ่าน input จาก HDMI ที่ต่อจากกล่องมา (เหมือนพวกเครื่องเล่น DVD หรือ Blu-ray)

ต่อทุกอย่างเรียบร้อยก็วางไว้ด้านหน้าทีวีได้สบายๆ โดยผมต่อกล่องรุ่นนี้ผ่านช่อง HDMI เข้าทีวี เพื่อได้รับสัญญาณที่ชัดเจนระดับ HD จากช่อง Free TV ที่มีหลายๆ ช่องปล่อย HD ออกมาให้ชมกันแล้ว แล้วแน่นอนว่ามีช่องเสียบ USB 2.0 ก็จัดการต่อเข้ากับ HDD external ขนาด 2.5” เสียเลย

ต่อครบก็สแกนหาสัญญาณทีวีสักหน่อย ก็เจอว่ามี 2 ผู้ให้บริการเครือข่าย คือ MCOT และ ททบ. 5 เป็นผู้ให้บริการที่ใกล้ผมที่สุด (เจ้าอื่นไม่รู้ทำหรือยัง) จะเห็นว่ามีช่องให้เลือกทั้งแบบ SD และ HD เลยทีเดียว

เมื่อรับเป็นดิจิตอลก็มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการแสดง EPG (Electronic Program Guide) ที่ช่วยแสดงรายการต่อไป หรือก่อนหน้านี้ ได้ การแสดงระดับสัญญาณ และความคมชัด เพื่อช่วยในการปรับตั้งเสาอากาศให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด

เราสามารถตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ได้ว่าสัญญาณเป็นอย่างไร และส่งข้อมูลมาแบบไหน ข้อดีของระบบทีวีดิจิตอลคือ ถ้าสถานีส่งภาพแบบ 16:9 และเสียงมาแบบ Dolby Digital 5.1 ถ้าทีวีและระบบเสียงเรารองรับ เราก็ปรับภาพเป็น 16:9 และฟังแบบ Dolby Digital 5.1 ได้ทันที คนชอบดู The Voice คงชอบกันแน่ๆ มาเต็มๆ โดยทั้งภาพ และเสียง อย่าง TPBS HD ก็ส่งภาพมาเป็น 16:9 ยิ่งสารคดีบางตัวที่ถ่ายทอดมาก็รับชมได้ชัดเจนดี เสียงมาเต็มมากๆ

สำหรับความสามารถทั่วๆ ไปอันนี้คงต้องไปลองเล่นดู มาต่อที่ความสามารถภายในกันสักหน่อย

ในเมนูของตัวกล่องจะมีการปรับตั้งค่าต่างๆ ได้ผ่านเมนูนี้ทั้งหมด การค้นหาสัญญาณภาพสามารถทำได้จากเมนู “การติดตั้ง” นี้

การตั้งค่าและลำดับช่องในเมนู “ช่อง”

เมนู “เวลา” แนะนำว่าควรตั้งไว้ให้เรียบร้อย เผื่อจะใช้ความสามารถอัดรายการ (ที่จะบอกต่อไป) จะได้ไม่พลาด

ในส่วนของการ “ตั้งค่าทีวี” นั้นสามารถตั้งให้ส่งข้อมูลแบบ 16:9 หรือ 4:3 ก็ได้ อันนี้แล้วแต่การปรับ

แน่นอนว่าทีวีดิจิตอลเราสามารถเลือกสัญญาณเสียงเป็นภาษาต่างๆ ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับทางผู้ส่งสัญญาณว่าจะใส่มาให้เรากี่ภาษา และแน่นอนว่าส่งคำบรรยายใต้ภาพมาให้ด้วย พูดง่ายๆ บ้านผมอาจจะชอบดูหนังเซาด์แทร็ก และอ่านคำบรรยายภาพ ส่วนข้างๆ บ้านอาจจะดูพากย์ไทย ก็ทำได้โดยการส่งสัญญาณภาพเพียงครั้งเดียว คนดูก็จะมีทางเลือกในการรับชมได้มากขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นดิจิตอล ในเมนู “อื่น ๆ” เราสามารถควบคุมการดูทีวีของเด็กๆ ได้ ในกล่องมีโปรแกรมเล็กๆ เช่นปฏิทิน เครื่องคิดเลขและเกม มาให้ด้วย (แต่ผมไม่ได้ลองนะ)

จุดสำคัญคือส่วนของการอัพเกรดตัวซอฟต์แวร์ เผื่อในอนาคตอาจจะมีความสามารถอื่นๆ เพิ่มมาอีก ก็สามารถอัพเกรดได้สบายๆ คล้ายๆ มือถือสมาร์ทโฟน

ส่วนเมนูสุดท้าย อันนี้ชอบมาก คือ “USB” โดยเป็นเมนูสำหรับทำงานร่วมกับ HDD external ที่ต่อไว้ผ่านช่อง USB 2.0 นั่นเอง

ในเมนูมัลติมีเดีย เราสามารถดูไฟล์วิดีโอ ดูรูปภาพ ฟังเพลง และยังรวมถึงดูไฟล์วิดีโอที่บันทึกรายการของทีวีดิจิตอลไว้ผ่านทาง HDD external ที่ต่อไว้ตั้งแต่แรก

เข้ามาในเมนูนี้ ก็จะเห็นว่าเรามีไฟล์อะไรอยู่บ้างใน HDD external แล้วก็เลือกจะดูได้เลย

ลองสักหน่อย เอาไฟล์ที่ rip 1080i จาก DVD ของ Bodyslam นั่งเล่น มาเปิดทดสอบสักหน่อย

ส่วนใครใช้ไฟล์ mkv โดยภายในเป็นเสียงแบบ DTS และ DTS-HD จะกล่องรุ่นนี้ไม่สามารถถอดรหัสเสียงได้ครับ

การ ”ตั้งค่าบันทึก” เป็นส่วนที่เราไว้ใช้บันทึกภาพและเสียงของรายการทีวีดิจิตอล

การตั้งค่านั้นเราสามารถตั้งค่าบันทึกได้ทั้งตั้งเวลา หรือแบบกดปุ่มบันทึกที่รีโมททันทีเลยก็ได้

แต่จากการทดสอบ และเช็กๆ จากหลายๆ เว็บ เหมือนจะยังไม่สามารถบันทึกตามเวลาที่ตั้งได้ และหลายๆ คนคาดว่าความสามารถนี้จะใช้ไม่ได้ในรุ่นนี้ ตอนนี้อยากบันทึกรายการต่างๆ ก็ต้องทำผ่านปุ่มที่รีโมทเท่านั้นครับ

เมื่อบันทึกแล้ว เราจะได้โฟลเดอร์ และไฟล์ที่เป็น .TS ซึ่งบันทึกลงใน HDD external ที่เราได้ต่อไว้ กะๆ ไว้ว่า 32 วินาที ได้ไฟล์มีขนาดประมาณ 19MB ได้ ฉะนั้น ต้องมี HDD ที่ค่อนข้างใหญ่สักหน่อยถ้าจะอัดรายการยาวๆ เป็นหลักชั่วโมงครับ

หลังจากรับชมช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ TPBS ทั้ง SD และ HD แล้ว ต้องบอกว่า HD ชัดเจนมาก โดยเฉพาะของ TPBS HD นี่คมดีเยี่ยมเลย ส่วน SD ก็ถือว่าดีในระดับพอไหวอยู่ ผมคิดว่าช่อง HD เนี่ยแหละ จะเป็นตัวทำให้เราใช้ทีวีจอใหญ่ๆ กันอย่างคุ้มค่าเสียที ><”

ทั้งหมดที่รีวิวมาเล็กๆ ก็หวังว่าจะได้รับข้อมูลการใช้งาน และเตรียมตัวกับการรับชมทีวีดิจิตอลกันแบบเต็มๆ ในช่วงปี 2014 นี้ครับ

ข้อมูลทางเทคนิค (อ้างอิง http://www.samartdigital.com/product/detail/5)

Exit mobile version