@FordAntiTrust

การเรียนด้านคอมพิวเตอร์

ผมฟังรายการ ช่างคุยกับหมอ เป็นประจำ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นแนว ๆ สูตินารีแพทย์ แต่บางตอนก็เป็นเรื่องการเรียนของแพทย์ ที่รายการนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ได้อย่างน่าสนใจ แล้วประกอบกับไปอ่านใน G2K ใน blog ของ ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ แล้วอ่าน reply ของ บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา) แล้วชอบมาก ๆ กับข้อส่วนนี้ครับ

  • ที่ผ่านมาในห้องเราเรียนหลักการ ทฤษฎีมากมาย  ผมเห็นด้วยครับว่าต้องเรียน  แต่เรียนเล้วต้องเปิดโลกสังคมจริงให้เขาเอาหลักการนั้น ทฤษฎีนั้นไปใช้ ไปปฏิบัติ ไปทำ ไปฝึก
  • ผมชอบหลักสูตรของแพทย์ เมื่อเรียนแล้วปีท้ายๆเป็นแพทย์ฝึกหัด (Intern) ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์  ก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพ
  • วิชาชีพอื่นๆก็เหมือนกัน  ต้องออกไปฝึก ไปทำ ไปปฏิบัติ จึงจะรู้ว่าชีวิตจริงนั้นเป็นอย่างไร เข้าใจเขาซะให้ลึกซึ้ง ก่อน เหมือนหมอหาข้อมูลคนไข้ แล้วบันทึก วินิจฉัย แล้วเยียวยารักษา และดูอาการต่อเนื่อง วิชาชีพอื่นก็เช่นกันต้องทำในทำนองเดียวกัน เอาหลักการไปใช้เอาทฤษฎีไปใช้ในสถานการณ์จริง จึงจะรู้ว่า หลักการนี้ ใช้ได้หรือไม่ได้ ได้มากได้น้อยอย่างไร 
  • อาชีพครูมีการฝึกการสอน  ทุกวิชาชีพต้องใช้ศิลปะควบคู่ไปกับวิชาชีพ ทราบว่าบางประเทศจะต้องออกไปปฏิบัติจริงอย่างน้อยหนึ่งปี จึงกลับมาเรียนต่อจนจบในทุกวิชาชีพ
  • การเรียนในห้อง—–>ออกไปปฏิบัติ—–>เอาบทเรียนมาแลกเปลี่ยนแล้วศึกษาค้นคว้าต่อไป นี่คือการฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น ติดดิน และสร้างสรรค์ อยู่บนของจริงไม่ลอยละล่อง
  • ครูออกไปสอน
  • เรียนกฏหมาย ออกไปฝึกกับอัยการ นักกฏหมายข้างโรงข้างศาล สถาบันศาลต่างๆ
  • นักเกษตรออกไปอยู่กับชาวบ้านสักปีหนึ่ง
  • เภสัช ออกไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไปเรียนสมุนไพรโบราณกับพ่อนั่นพ่อนี่ ไปเดินป่าดงหลวง ดูกวางเครือของจริงมันเป็นอย่างไรขึ้นตรงไหน ต้นตะไคร้ต้นมันเป็นอย่างไรในป่าของจริง อยู่สักปีหนึ่ง
  • นักวิศวกร  ออกไปอยู่กับโรงานต่างๆ บริษัทก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้างจริง ฯลฯ
  • …..ฯลฯ.  อาจารย์ก็ออกไปด้วย ไปแลกเปลีย่นกับนักศึกษา ไปแลกเปลี่ยนกับเจ้าของกิจการ ไปแลกเปลี่ยนกับลูกค้า…โอย..ข้อมูลบานตะไทที่มาจากสังคมจริง  ของจริง  ไม่ใช่สมมุติกันอยู่นั่นแหละ 10 ปีมาแล้วยังยกตัวอย่างเดิมอยู่เลย  อิอิ
  • การออกไปสนามจริงทุกสาขาวิชานั้นจะช่วยให้เกิดการถกเถียงว่าหลักการที่เรียนมากับของจริงมันไปด้วยกันได้ไหม อาจะก่อให้เกิดการสร้างหลักการใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆที่มาจากฐานสังคมจริงของไทยเรา ไม่ใช่เอาแต่แปรมาจากตำราต่างประเทศ อ้างกันอยู่นั่นแหละ มิสเตอรนั่น มิสสิสนี่  ไม่เห็นอ้างพ่อบัวไลผู้ตอนผักหวานป่าได้ผล พ่อแสนผู้ทำเล้าหมูเคลื่อนที่ ไม่เห็นอ้างครูบาสุทธินันท์ …
  • เรียน—->เอาไปปฏิบัติจริง——>เรียนรู้แบบยกระดัยขึ้นไปอีกจากของจริง
  • เราจะได้เด็กที่ติดดิน ทำเป็น คิดเป็น สร้างสรรค์เป็น ดัดแปลงได้ มีความสนใจเฉพาะส่วนตัวตามความถนัดของตัวเอง
  • เราจะได้เด็กที่ยืนอยู่บนของจริง

แต่จุดหนึ่งที่ผมกลับมาย้อนดูวิธีการสอนฝั่งสาขาคอมพิวเตอร์บ้างสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ในส่วนของนักศึกษาแพทย์นั้นในช่วงเริ่มต้นอาจจะได้เรียนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ เหมือน ๆ กับคณะอื่น ๆ แต่พอขึ้นปีสูง ๆ สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัคคือผู้สอนที่ มาสอนนักศึกษาแพทย์จะเป็นผู้เชียวชาญหรือแพทย์ที่ทำงานมาแล้วและคัดมาเพื่อเป็นอจารย์ที่สอนนักศึกษาแพทย์อีกทีนึง สิ่งนี้เองที่ทำให้การเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะผู้ที่สอนนั้นมีประสบการณ์ตรงในการทำงานมาสอน ทำให้ได้แง่มุมต่าง ๆ มากมายในการทำงานจริงมาให้กับนักศึกษาเพื่อสืบทอดวิชาทางการแพทย์ต่อไป พอถึงปีท้าย ๆ ก้ต้องออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ อีก 1 ปีและกลับมาสอบทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี ซึ่งการออกไปฝึกงานก็เหมือนกับนักรบที่ฝึกฝีมือมาแรมปี ได้ออกศึกลองฝีมือตัวเองว่าที่ตัวเองฝึกฝนมานั้นฝีมือเกร่งกล้าแค่ไหน

พอกลับมาดูฝั่งสาขาคอมพิวเตอร์บ้าง เท่าที่ได้คุยกับเพื่อน ๆ ตัวเอง หลากหลายมหาวิทยาลัยสิ่งที่น่าตกใจคือ ผู้ที่เรียนด้านนี้แทบไม่ได้ลงมือปฎิบัติจริงกันเลย มีส่วนน้อยมาก ๆ และมักเป็นหัวหน้ากลุ่มทำงานซะมากกว่า นอกนั้นไม่ออกเงิน ก็นั่งดูกันไป  แถมด้วยบางที่ ไม่มีแม้แต่ให้นักศึกษาออกไปฝึกงาน เพื่อเผชิญหน้ากับโลกภายนอกบ้าง ว่ามันโหดร้ายยังไง โดนด่าเป็นไง อะไรแบบนั้น เอาแค่หา Lab วิจัยแบบพี่เดฟ ก็ยากเต็มทนแล้ว สำหรับในมหาวิทยาลัยในบ้านเรา พูดง่าย ๆ ก็คือเรียนเสร็จกลับบ้าน แล้วบางครั้งก็ไม่รู้ไปไหน ส่วนใหญ่ก็เลยไปเที่ยวกัน อย่างผม ไม่รู้ไปไหน นอกจากห้องสมุด หรือไม่ก็อยู่หอ (เที่ยวกับแฟนก็มีบ้าง แต่พอดีว่าเป็นเด็กเรียนด้วยกันทั้งคู่เลยก็ดีไป) นั่งเล่นเน็ต หรือไม่ก็รับงานมานั่งทำคนเดียว เพราะส่วนใหญ่เวลาเราทำงานด้วยแล้ว บางครั้งไม่ได้ดั่งใจอ่ะ -_-‘ (พูดตรง ๆ ) แค่ present หน้าชั้นเรียนตอนทำงานส่งผมก็ต้องนั่งเตรียม keynote เอง เอกสารทุกอย่างทำเอง เพราะจัดรูปแบบเอกสารไม่มีการวางแผนเลย ใช้ Style ใน Word Processer ยังไม่เป็นเลย ตอนหลัง ๆ ผมทำ LateX ซะเลยหมดเรื่องช้าหน่อย แต่มั่นใจได้เลยว่าสวยงามแน่นอน แถม Keynote เนี่ยบางครั้งสิ่งที่เราจะพูดเราต้องเตรียมเอง ให้คนอื่นเตรียมมันจะมีปัญหาตามมานั้นคือนั่งอ่าน keynote เอาแล้วพ่นออกมา เพราะว่าเราไม่ได้ทำเอง (หรือไม่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย อ่านที่ copy/paste) มันเลยไม่รู้ว่าจะมีอะไรโผล่มาบ้าง พอโดนอาจารย์ถามก็อึ้ง ๆ กันไปแถมด้วยความที่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอที่เรียนในสายนี้มักจะไม่ได้ลงมือทำจริง เวลาอธิบายก็อธิบายแบบรู้คนเดียวคนอื่นไม่รู้ด้วย แถมเวลาผมพูดอะไรไปมักนึกภาพตามไม่ออก สิ่งที่ทำคือ กระดาษกับดินสอครับ ร่างให้อ่านกันเลย ว่ามันเชื่อมโยงกันยังไงบ้าง

ผลจากการที่ไม่ได้ทำจริง มันเลยส่งผลตอนออกมาทำงาน แถมด้วยนิสัยความที่ไม่ได้เป็นคนชอบค้นคว้า ค้นหาความรู้ เลยมีผลต่อมาว่า ถ้าเราอยากรู้เรื่องที่เราไม่รู้ จะไปหาจากที่ไหน ถ้าเดี่ยวนี้ก็ Google, Live หรือ Yahoo ปัญหาต่อมาคือ นึก keyword ไม่ออก กลายเป็นว่าหาไม่เจอ ทำไม่ได้

อีกเรื่องก็คือ ไม่มีใจในสิ่งที่เรียน ผมอาจจะเป็นคนที่โชคดีคนนึงที่เรียนในสิ่งที่ชอบ และรู้ว่าตัวเองชอบอะไร จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าที่บ้านผม แม่ผมสนับสนุนเรื่องพวกนี้เต็มที่เลย อย่างตอนผม ม.1 ตอนนั้นผมไปซื้อวิทยุสื่อสารคลื่น 27MHz มา พอดีว่ามันพังตอนแรกก็ส่งให้เค้าซ่อม ต่อมาก็ซื้อหนังสือพวกวิทยุสื่อสารมา ในนั้นมันมีเรื่องพวกโม เครื่องให้ส่งไกล ๆ ด้วย (แต่ผิดกฎหมายนะ คลื่น 27MHz ห้ามขึ้นเสาสูงเด็ดขาด แต่ไม่รู้เดี่ยวนี้ได้หรือยัง เพราะไม่ได้เล่นมาจะ 6 ปีแล้ว) เลยสนใจด้านอิเล็คทรอนิกส์มาก ก็เลยไปซื้อพวกนักสื่อทำพวกนี้มา ซื้อชุดคิตมานั่งต่อ พวกเครื่องชาร์จแบต Ni-CD/Ni-MH (ทำให้ผมเขียนบทความเรื่องชาร์จแบตได้ไงหล่ะ เพราะผมทำเครื่องชาร์จไฟเข้าแบตมาก่อน) แล้วตอนนี้ Li-ion ยังใหม่มาก ๆ ได้แต่อ่านผ่าน ๆ เพราะตัว cell แพงมาก แต่ตัวเครื่องชาร์จไม่แพง แต่ไอ้ Ni-CD/Ni-MH เนี่ย มันถูกทั้งตัว Cell และตัวชาร์จเลย ส่วนใหญ่เอาไปใช้ในพวกวิทยุสื่อสาร (วอ) นั้นแหละ

จริง ๆ ในตอนนั้นโมเครื่องวิทยุให้มันส่งไกล ๆ แข่งกันในหมู่เพื่อนร่วมย่านความถี่ เคยส่งได้ไกลที่สุดก็ประมาณ 20 กิโลเมตรได้ จริง ๆ มีคนส่งได้ไกลกว่าเยอะนะ แต่เราเอาแค่นี้แหละ ตัว Transitor กัล IC ภาคส่ง/รับมันแพง ตัวเป็นร้อย -_-‘ แถมกดส่งที Transitor แทบไหม้ ต้องเอาตัวระบายความร้อนมายัดใส่อีก (ไม่ต่างอะไรกับ CPU เลย นึกแล้วก็ข่ำ ฮา …. )

พอทำ ๆ ไป อ่าน ๆ ไปก็สนุกดี แต่ที่ทำให้ผมทำเว็บเนี่ย ไม่ใช่ว่าผมไปอ่านหนังสือคอมฯ แล้วทำนะ ผมอ่านหนังสือวิทยุสมัครเล่นเนี่ยแหละ มันมีบทความสอนทำเว็บอยู่ เลยมานั่งเขียนใน notepad แล้วแสดงบน Netscape 3.0 เอา (ภาษา HTML ล้วนๆ) แล้วก็ลองทำไปเรื่อย ๆ บน http://www.geocities.com/SiliconValley/Garage/8818/ เนี่ยแหละ

เลยเริ่มต้นเขียนเว็บตั้งแต่ตอนนั้น จริง ๆ ผมเรียนคอมฯ ตั้งแต่ ป.5 จับคอมฯ ตั้งแต่ตอนนั้นแหละ แล้วก็เรื่อย ๆ กับมัน จน ม.1 – 2 ก็ทิ้ง ๆ ไปนิดหน่อย แต่ก็เรียนอยู่ พอเริ่มเข้า ม.3 ตอนนั้นคอมฯ ก็ ok นะแข่งกันภายในโรงเรียนก็ได้ที่ 3 มา ตอนนั้นช่วงเลือกทางเดินว่าจะไปทางไหนดี ตอนนั้นชอบด้านอิเล็คทรอนิคส์มากกว่า เลยว่าจะไปเรียนเทคนิค ซื้อใบสมัครมาแล้ว แต่จนแล้วจนรอด ก็ได้เรียนต่อ ม.ปลาย ที่โรงเรียนเดิม เพราะคุณครูศิลป์ณรงค์ (ครูสอนคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นครับ) เค้าไม่อยากให้ไปอ่ะ เสียดายฝีมือ จริง ๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้เก่งอะไรมาก เป็นพวกลองจนเครื่องพัง แล้วก็ซ่อม ซ่อมแล้วก็พังอีก ย้ำคิดย้ำทำจนทำได้เองอ่ะแหละ ตอนเรียน ม.ปลาย ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนหรอก (และก็เลิกบ้าเรื่องอิเล็คทรอนิกส์ไปเลย มาจับด้านคอมฯ แทน แล้วก็แนว ๆ เดียวกัน) คนที่เป็นเพื่อนผมตอน ม.ปลาย คงเข้าใจดีว่านอกจากผมมันจะบ้าอิเล็คทรอนิคส์แล้วเนี่ย มันยังบ้าคอมฯ อีก เข้าห้องเรียน ส่วนใหญ่จะหลับ เพราะตอนกลางคืนนั่งเล่นคอมฯ อยู่บ้าน อ่อ ลืมบอกไปว่า ผมซื้อคอมฯ เครื่องแรกตอน ม.4 ครับ ก่อนหน้านั้น อยากเล่นต้องหาที่เล่นเอง ทั้งไปเช่าร้านเน็ตนั่งเล่น (ทำเว็บตอนนั้นก็ไปเช่าตามหน้านั่งทำเว็บวันละ 1-2 ชั่วโมง) พอมีเป็นของตัวเอง คราวนี้บ้าคอมฯ เลย แล้วก็เลยมีกลุ่ม LABBOY อยู่ที่โรงเรียน กลุ่มผมจะมี 4 คนมีไอ้เอฟ (ตอนนี้จบป.ตรี Computer Sci และต่อโทอยู่ม.รังสิต), ไอ้ตง (กำลังเรียนป.ตรี Computer Sci อยู่ ม.ราม) และไอ้ทัก (ตอนนี้เป็นตำรวจอยู่ 3 จังหวัดภาคใต้ครับ ไม่รู้ว่ามันเป็นไงบ้างไม่ได้โทรหามันเลย) แล้วจริง ๆ ก่อนจบก็มีรุ่นน้องชื่อไก่ (ผู้ชายนะ) คนนึงเข้าร่วมด้วย ส่วนคนอืน ๆ ก็เข้า ๆ ออก ๆ จำชื่อไม่ได้

ห้องทำงานครูคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเก่าครับ ตอนนั้นโคตรรกเลย

ภาพถ่ายร่วมกับเพื่อน ๆ ตอนไปแข่ง Intel Tri-Contest เขตภาคกลางครับ

เห็นภาพพวกนี้แล้วคิดถึงเพื่อน ๆ เหมือนกัน แต่ตอนนี้สนุกมาก ๆ เพราะคอเดียวกัน คุยกันอย่างมัน แบบว่าถ้าไอ้กลุ่มนี้รวมตัวมีแต่คำว่า Computer เท่านั้น ตอนนี้ก็จะ 5 ปีแล้ว ไม่ได้เจอกันพร้อม ๆ หน้ากันสักที T_T

คือตอนอยู่ที่โรงเรียนเก่าเนี่ย พวกผมจะเป็นเหมือนช่างอ่ะ เครื่องเสียพวกผมก็ช่วยซ่อม Network มีปัญหาพวกผมก็ช่วยกันทำ สาย LAN ต้องการเพิ่มพวกผมก็เข้าสายกันเอง (เป็นเหตุให้ผมเข้าสาย LAN เป็นจนทุกวันนี้) แถมออกแบบระบบ Network แบบ LAN ทั่วไปอ่ะแหละ Share-internet ภายในโรงเรียนอะไรแบบนั้น (ติดตั้ง Windows 2000 Server + ISA Server 2000 ทำ Firewall + NAT ออก internet)

แล้วยิ่งบ้าหนักเมื่อตอน ม.6 หก ตอนนั้นแทบไม่ได้เรียนเลย เพราะพวกผมมัวอยู่แต่ห้องคอมฯ ไม่ได้เข้าห้องเรียนครับ โดด ห้องคอมฯ อย่างเดียวจนครูคนอื่นเค้าก็ว่าเช้า ว่าเย็น เกรดก็ต่ำสุด ๆ แล้วมันจะ ent’ ติดไหมเนี่ย ฮา …… (สรุปมันก็ไม่ติดแหละ ฮา …… )

แต่ช่างมัน หาทางเรียน computer science จนได้แหละ แล้วก็จบออกมาแล้วเนี่ยไง

คือที่ร่ายยาวเอาประวัติพวกนี้มาเล่าเนี่ยไม่ได้อะไรหรอก เพียงแต่อยากจะบอกว่า ถ้าเรียนแล้วไม่มีใจรักมันจะไม่มีความสุขอ่ะ อย่างผมทำงานด้านคอมฯ เนี่ย ผมทำไป ผมไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเท่าไหร่ นอกว่าเครียด ๆ เพราะงานมันกดดันนี่ก็เหนื่อย แต่ถ้าทำเรื่อย ๆ อย่าง Framework ที่ผมทำเนี่ย มันไม่เหนื่อย แต่กลับสนุกได้ทำอะไรที่มันเป็นความคิดของเราเอง ลองโน้นลองนี่ รู้สึกว่ามันได้เล่นอ่ะ (แปลกคนจริงแมะ)

พอเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันเหมือนเล่น มันก็สนุก ไม่เครียด ตอนเรียน ป.ตรี computer science ก็เหมือนกันผมก็ไม่ได้เรียนแตกต่างจากคนอื่น แถมตอนสอบ ผมก็อ่านน้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ อาจจะเพราะผมมีพื้นมาตั้งแต่ตอน ม.ต้น-ม.ปลาย ที่ได้ประสบการณ์ และการทำงานจริงมา เลยเข้าใจ และนึกภาพออก อ่อ ผมลืมบอกไปว่าตอนม.ปลาย ผมไปเป็นลูกมือร้านประกอบคอมฯ อยู่ 2-3 ร้าน รับจ้างประกอบคอมฯ เลือกเสปคให้ลูกค้า (เดี่ยวนี้ก็ยังมีคนโทรฯ มาถามเรื่องพวกนี้อยู่เลย) เลยได้พื้นพวกนี้มาด้วยมั้ง

พอเราได้ลองของจริง เยอะ ๆ ความคิดมันเลยเริ่มแตกต่างเวลาทำรายงานกับนำเสนองานหน้าชั้นเรียน อย่างตอนเรียน คนที่เรียนกับผมคงรู้ว่าผมมันพวกแปลกแยก แตกต่างจากชาวบ้าน เค้าทำด้วย Word 2000 ผมก็ใช้ OpenOffice เค้าใช้ Access เขียนโปรแกรมฐานข้อมูล ผมก็เขียน PHP ติดต่อกับ MySQL แทน อะไรแบบนั้น (บ้าไปแล้ว)

เป็นพวกพยายามหาอะไรใหม่ ๆ มาทำมากกว่ามั้ง

อีกอย่างคือ ด้วยความที่เราชอบคอมฯ มากด้วยมั้งเลยอ่านมาก ก็รู้ว่าบางอย่างเวลาเราทำแล้ว มันเอาไปใช้งานจริง ตอนเรียนจบยาก เลยหาทางเอาแนวคิดตัวเองมาใส่ในงานที่ส่งแทน

อ้าว ….. กรำ … ท่าทางผมจะออกนอกเรื่องเยอะไป (เยอะดิ เกือบครึ่ง ฮา … )

กลับมาพูดเรื่องการเรียนการสอนต่อครับ …

จากที่เล่า ๆ มาเนี่ย จะเห็นว่าถ้าคนเรียนมีใจแล้ว อะไรมันก็ง่ายขึ้นเยอะ และในกรณีการเรียนการสอนด้านคอมฯ ในไทย ที่ส่วนใหญ่อาจารย์ที่สอนมักจะมีประสบการณ์ตรงในส่วนที่ตัวเองสอนยังน้อยอยู่ ทำให้ไม่รู้จะยกตัวอย่างยังไง ให้เห็นภาพในโลกของความเป็นจริง แบบอาจารย์ของนักศึกษาแพทย์น่ะครับ (แนวนั้นนี่เห็นกันจะ ๆ ดูกันเห็น ๆ)

และผมคิดว่างานด้านคอมฯ จำเป็นที่จะต้องมีคนที่มีความสามารถในเชิงทฤษฎีและปฎิบัติ มาทำงานควบคู่กัน เก่งแค่ทฤษฎีก็ได้แค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ไปวัน ๆ เพราะว่าไม่ได้ลงมือทำ (เพราะทำไม่ได้) ส่วนเก่งแต่ปฎิบัติแต่ทฤษฎีไม่แน่นก็มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและประยุกต์ใช้ที่แหวกแนวแตกต่างจากของเดิม ๆ ที่ทำจนชิน

คือมันต้องสมดุลกันทั้งสองด้าน น่าจะเป็นทางออกที่ดี ผมว่าคนเรียนคอมฯ รุ่นใหม่ ๆ น่าจะเปลี่ยนแนวทางจากเรียนทฤษฎี 80 ปฎิบัติ 20 มาเป็น 50:50 หรือ 40:60 ซะ คืออะไรปฎิบัติเกินครึ่ง คือเรียนแล้วต้องเอามาใช้ เหล็กมันต้องตีตอนแรกมันถึงจะแข็งแรง ทนทาน

คือะไรประมาณว่าเขียนโปรแกรมพื้น ๆ ได้ แต่เข้าใจ ดีกว่าเขียนโปรแกรมขนาดใหญ่ยัก แต่แค่คัดลอกเค้ามา ผมว่ามันไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่ แล้วพวกโปรแกรมพื้น ๆ เนี่ยแหละ เอามาต่อยอดกันไป ๆ มา ๆ เดี่ยวมันก็ดี และใหญ่ขึ้นมาเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการเรียน การสอนครับ

Exit mobile version