เรากำลังตกขบวนรถไฟไอที ?
เมื่อวานได้อ่าน Blogging from Beijing ของพี่ mk จริง ๆ แล้ว feed เข้ามาในเครื่องแต่ว่าไม่ได้อ่าน พอดีว่าพี่เดฟ เอามาให้อ่านเลยมานั่งจับใจความอีกรอบ และได้นั่งฟังแนวคิดและความรู้สึกของพี่เดฟในเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่กระแทกใจอย่างแรงจากที่พี่เดฟ ได้พูดไว้ในตอน Seminars ในแลป ก็คือ "รถไฟขบวนสุดท้ายได้จากเราไปแล้ว" ในสภาพโลกไอที ประเทศไทยโดนโดดเดียวไปแล้วหลาย ๆ เรื่องโดยที่คนใช้งานทั่วไปไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ เพราะตัวเองก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย เพราะตัวเองไม่เคยสร้างอะไรขึ้นมาใช้เอง และหรือแม้แต่คิดที่จะสร้างซอฟต์แวร์หลาย ๆ ไม่มีแม้แต่รายการให้เลือกภาษาสำหรับคนไทย แต่กับประเทศเวียดนาม และหลาย ๆ ประเทศกลับมีให้เลือกอยู่แทบจะทุก ๆ ตัวที่ผมได้จับต้องมา ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมไอทีในบ้านเรา และควรจะเร่งรีบแก้อย่างมากคือมาตรฐานตัวอักษรไทย ที่ควรจะมีตัวใดตัวหนึ่งเป็นหลักให้คนทั่วโลกที่ต้องการสร้างซอฟต์แวร์ให้กับคนไทยใช้นั้นได้เอาไว้อ้างอิงแบบตัวอักษรได้ใช้ รวมไปถึงเรื่องการตัดคำของภาษาไทยที่ควรจะใช้งานได้ดีและมีมาตรฐานหลัก ๆ สักตัวให้คนที่ต้องการทำ Text-to-Speech และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต้นใช้ได้มีมาตรฐานกลาง เพื่ออ้างอิงและนำไปใช้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิดแล้วสุดท้ายทุกอย่างก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมเท่าไหร่ งานด้าน Open-Source นั้นน่าสนใจ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของคนไทยส่วนใหญ่ที่มักจะแบ่งบันความรู้กันไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะออกแนวขัดขากันเสียมากกว่า เลยทำให้การแบ่งบันความรู้มีน้อย เพียงแค่เรื่องภาษาของเราเอง ที่มันเป็นรากของงานระดับบนในสังคมไอที ที่ทุก ๆ คนต้องไปอ้างอิงถึงยังไม่มีอะไรแน่นอน แล้วชาวต่างชาติที่ไหนจะมาอ้างอิงกับประทศที่ไม่มีอะไรแน่นอนในเรื่องพื้นฐานมาก ๆ แบบนี้ ซึ่งมันก็หมายถึงการทำซอฟต์แวร์ให้สนับสนุนภาษาไทยอย่างเต็มขั้น
จากย่อหน้าแรกจะเห็นได้ว่าแค่เรื่องพื้น ๆ เรายังไม่มีรากเป็นของตนเองเลย และเรื่องต่อมาที่ทำให้พี่เดฟรู้สึกเซงมาก ๆ ก็คือเราตกขบวนไปแล้ว โดยในขณะที่คนระดับบนของรัฐฯ กำลังนั่งไล่ล่าหาข้อมูลด้านการทุจริตต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดที่แล้ว และกระทรวง ICT ก็นั่งไล่ปิดเว็บโป๊, เว็บที่เป็นภัยต่อความมั่นคงต่าง ๆ และรวมไปถึง Camfrog อีกฝากหนึ่งของโลก และอีกหลาย ๆ พื้นที่ในโลกที่ไม่ไกลจากเรามากนัก อย่างเวียดนามกำลังสร้างบุคคลไอทีระดับหัวกระทิมากมาย, มีทรัพยากรบุคคลมากมายให้กระจายแนวคิดและความรู้ต่าง ๆ ลงไปให้กับคนระดับกำลังศึกษา ซึ่งคนในระดับกำลังศึกษานั้นมีความตื่นตัวสูงมากในการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งมันอยู่ในระดับที่น่ากลัวมาก เพราะเค้าถูกกดทับด้านความคิดและความรู้มานาน ทำให้เมื่ออะไร ๆ มันเปิด คนทุกคนก็หวังจะมีอะไรที่ดี ๆ มากขึ้นทุกคนเร่งรีบพัฒนาตัวเองเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เหมือนภูเขาไฟที่สะสมพลังงานมาอย่างยาวนาน เมื่อทุกอย่างได้ที่ก็ระเบิดออกมาราวกับแผ่นที่จะพังทลายเสียให้ได้ ทำให้ทุกคนทั้งโลกรู้ว่าที่นี่กำลังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทุกคนมุ่งสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างไม่ลังเล ด้วยพลังที่ระเบิดออกมาอย่างมหาศาล และทุก ๆ คนที่อยู่รวบนอกภูเขาไฟนั้นกำลังต้องการพลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนจึงมุ่งเข้าสู่แหล่งพลังงานนั้น ส่วนเราประเทศไทยในตอนนี้นั้นเหมือนภูเขาไฟที่ไม่ได้ถูกสะสมพลังงานมามากพอ และดูเหมือนกับว่าภูเขาไฟข้าง ๆ หลาย ๆ ลูกที่กำลังระเบิดออกมาพร้อม ๆ กันปล่อยเถ้าถ่านมากมายมหาศาลออกมาแล้วตกลงมากองลงที่ภูเขาไฟที่ชื่อว่าประเทศไทยเสียมิด จนกลบภูเขาไฟเราเสียสิ้น เมื่อคนแสวงหาแหล่งพลังงานมาสำรวจและค้นหา กลับเดินข้ามเราไปสู่ที่ที่มีพลังงานที่มากและสูงกว่า ช่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก
"โลกกำลังหมุนไป, โลกไม่คอยเรา แต่เราคนไทยกำลังคอยให้โลกเหวี่ยงเราไปตามแรงหมุนของโลกแทน โดยที่เราไม่เดินหรือวิ่งตามแรงของโลกที่หมุนไปเพื่อให้ทันกับกระแส ระวังให้ดี แรงของการเหวี่ยงของโลกจะทำให้เราหนีจากศูนย์กลางของโลก และเราจะหลุดและตกโลกไปในไม่ช้า"
อีกเรื่องคือ เรายังไม่ทันต่อการมาและไปของสิ่งต่าง ๆ เรามีแผนงานรองรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ทันทั้งในภาครัฐฯ, ภาคเอกชน และรวมไปถึงบุคคลทั่วไป ประเทศเรารับเทคโนโลยีได้ไวมาก โลกมีอะไร เราคนไทยรู้และพร้อมใช้งานได้ทันที แต่เราไม่สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ภายในว่ามันทำงานอย่างไร และเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เราเป็นผู้รับที่ดี แต่เราไม่เป็นผู้สร้างที่ดี ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างฉายฉวย ซื้อมาและขายไป มากกว่าการวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อใช้เองภายในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศทั้งหมด ตอนนี้เราตกขบวนแต่สิ่งที่เราน่าจะเริ่มทำ และทำทันที นั้นคือไล่ตามรถไฟขบวนนั้นไป ถือแม้ว่าธุรกิจด้านไอทีจะเร่งความเร็วสูงขึ้นเป็นเท่าตัวทุก ๆ 18 เดือน แต่ปีนี้เป็นช่วงพลัดใบของไอที เป็นช่วงชะลอตัวที่สุดในรอบหลาย ๆ ปี การไล่ตามทันในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง ถึงแม้ประเทศอื่น ๆ จะรู้ทิศทางนี้เช่นกัน และกระโดดลงเล่นกับมันไปแล้วก่อนหน้านี้หลายปี นับตั้งแต่ Microsoft ปล่อย .NET 2.0 และตัวซอฟต์แวร์ช่วยพัฒนาอย่าง Visual Studo Express 2005 Version (รุ่นใช้งานได้ฟรี) ออกมา เพื่อเอามาทดสอบ และทำแผนการพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ๆ ในขั้นต่อไป แต่ก็มีน้อยคนและน้อยทีมที่จะปรับเปลี่ยน Project ที่ทำจากรุ่น 2002 และ 2003 มาเป็น 2005 ซึ่งที่ทำนั้นเพื่อรองรับแนวคิดใหม่ ๆ ที่ยังผลให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นกับ OS รุ่นใหม่ ๆ ได้ทันทีที่ออก นั้นก็คงไม่ต่างกับค่าย Apple ที่มี OS ตัวใหม่ และได้ปล่อยชุดพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ออกมาเพื่อรองรับการ OS รุ่นต่อไป ซึ่งก็คงไม่ต่างกัน และในตอนนี้ซอฟต์แวร์มากมาย ต่างรอคอยให้ระบบ OS ต่าง ๆ นั้นเปิดตัวเมื่อนั้นซอฟต์แวร์เก่า ๆ ทุกตัวก็สามารถทำงานได้ทันที ซึ่งในไทยนั้นมีน้อยมากที่มีแผนรองรับเรื่องนี้
ส่วนเรื่องต่อมาก็แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้นั้น หลาย ๆ ตัวเป็นเรื่องที่เราเห็นจนชินชา และได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ แต่ในไทยยังคงพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งช่างน่าเศร้าไปอีกที่หนังสือและตำราเรียน รวมไปถึงผู้สอนบางท่านยังคงแนวความคิดเดิม ๆ เขียนหนังสือ และนำเสนอแนวทางพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบเดิม ๆ ทำให้คนที่เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ก็เอาแนวคิดนั้นไปใช้อย่างผิด ๆ และล้าสมัย รวมไปถึงการหลาย ๆ อย่างที่นำเสนอนั้นกลับแทบจะไม่สามารถใช้งานได้จริงแล้วในปัจจุบัน แต่กลับยังคงแนวการสอนแบบเดิม ๆ โดยไม่ได้ดูว่าโลกนั้นใช้อะไร และไปถึงไหนแล้ว เรายังสอน OOP โดยที่ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้าง บางคนสอน OOP เพราะ OOP มันคือ class เท่านั้น (บ้าไปแล้ว -_-’) หรือการสอน OOP นั้นควรสอนอะไรที่ให้แนวคิดมากกว่าท่องจำ ควรเรียนและนำแนวคิดใหม่ ๆ นั้นเอาไปปรับใช้ จริง ๆ สอน OOP มันไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ด เพราะ OOP มันเหมือน Concept ที่ไม่ควรยึดติดกับภาษาใดภาษาหนึ่ง จริง ๆ เรียนควบคู่กับ Design Pattern น่าจะช่วยให้มองเห็นภาพมากขึ้นว่า OOP เอาไปแก้ปัญหาอะไร ได้บ้าง ซึ่งมันน่าจะเป็นอะไรที่อิสระมากกว่านั้น เหมือนภาษา Imperative ต่าง ๆ นั้นรูปแบบการเขียนก็ไม่ต่างกัน หรือภาษา functional ก็มีแนวทางหลัก ๆ ในการเขียนไม่แตกต่างกัน นั้นหมายความว่าคุณเขียน OOP ด้วยภาษาใด ๆ ที่เป็น Imperative เช่น Java คุณก็สามารถเขียนได้ใน VB.NET หรือ C# ได้ เพราะมีแนวทางไม่ต่างกันโลกส่วนหลัก ๆ แค่เรียนรู้ syntax เท่านั้นเอง (ลองเขียน VB.NET และ C# ควบคู่กัน แล้วดูว่ามันไม่ต่างกันเท่าไหร่ในส่วนหลัก ๆ)
แนวการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ นั้นมีมากมาย แต่คนที่เรียนจบและทำงานแล้ว มักไม่สนใจ และนำไปใช้กับมากนัก ทำให้คนรุ่นหลัง ๆ เข้าทำงาน หรือเพิ่งเริ่มเรียนรู้จากคนที่ทำงานแล้วนั้นมักได้แนวความคิดเก่า ๆ ไปแทน ซึ่งน่าเสียดายยิ่งนัก ซึ่งผมโชคดีที่ได้เรียนรู้กับคนที่มองอะไรบนแนวคิดใหม่ ๆ หลายท่านมาก นับตั้งแต่ ม.ต้นแล้ว ที่ได้แนวคิดใหม่ ๆ ในเรื่องพวกนี้ แต่วันหนึ่งมันก็เริ่มปรับตัวได้ช้าลงด้วยสภาวะแวดล้อมบางอย่างที่ทำให้เราดูเฉื่อยลงไป อย่างน่าใจหาย -_-’
จากที่ได้บ่น ๆ มา ทำให้เรารู้ว่าเราสอนอะไรต่าง ๆ นั้นบางครั้งก็เอาไปใช้งานจริงไม่เต็มที่ และรวมไปถึงเราสอนให้ผู้เรียนนั้นมองภาพไม่ออก ว่ามันมีความจำเป็นอย่างไร และมันเกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต
ต่อมาคือคนรุ่น ๆ ใหม่ ๆ บางพวก มักเรียนแบบส่ง ๆ แบบขอไปที และมักไม่มีความพยายามที่จะอดทนมากพอ ไม่เคยสอน ไม่ใช่หมายความถึงไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ บางคนถึงแม้มีคนชี้นำให้แล้ว แต่กลับไม่พยายามต่อโดยที่โบ้ยไปว่าแปลไม่ออก หรือแม้แต่ไม่รู้จะหาที่ไหน เป็นประเภทใช้ของที่มีอยู่แล้วไม่เป็น อย่าง Google หรือโปรแกรมแปลภาษาต่าง ๆ และเดี่ยวนี้ผู้เรียนเลือกผู้สอน แต่ผู้สอนไม่มีสิทธิที่จะเลือกผู้เรียน ทำให้คนเรียนมีอำนาจเหนือผู้สอน จนทำให้ระบบการเรียนนั้นไม่สามารถเคี่ยวคนให้ข่น เป็นจอมยุทธระดับสุดยอดได้ เป็นแค่พวกปลายแถว แต่เพียงแค่โดยคู้ต่อสู้จับกระบี่ยังไม่ทันเอาออกจากฝักก็หัวใจวายตายคาสนามรบไปเสียแล้ว ดั่งเหมือนกับเจอปัญหา แล้วไม่ลองค้น ลองหา (ดร. Google) ลองทำเอง ก็ล้มเลิกความตั้งใจตั้งแต่แรกไปเสียแล้ว
ช่างน่าเศร้าที่เรามีคนไม่อดทน และไม่ทันต่อโลก แบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ว่าง ๆ จะมาบ่นเรื่องนี้ต่อ เพราะมีเรื่องให้บ่นอีกเยอะ
จีนเป็นประเทศที่ผลิตบัณฑิตปีละตกประมาณ 500,000 คน เป็นสายวิทย์ 40% เห็นตัวเลขนี้แล้วก็อึ้งไปพักนึง เป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่มาก และแรงงานจีนทำงานทนกว่าค่าแรงถูกกว่า เพียงแค่สังเกตุจากผู้คนรอบๆ ตัวเราก็จะสังเกตุเห็นคนที่เวลาทำงานที่มักจะทำสักแต่ว่าให้มีส่ง เรียนก็เพียงเอาให้ผ่านๆ ไป สุดท้ายออกจากกะลาไปก็พบแต่ความว่างเปล่า เป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็นคนนึง ถ้าให้มองกันจริงๆ แล้วผมคิดว่ามันเป็นตั้งแต่ระดับการศึกษาแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ว่าเรายังหาจุดยืนของตัวเองใน ด้านการศึกษาไม่เจอ อาชีพครูกลายเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีเกียรติเมื่อเทียบกับหมอ,เภสัช หรือ วิศวะ แล้วเราได้ใครมาเป็นครู? อีกคำถามนึงที่ว่าเราได้ใครมาเป็นนักการเมือง? อันธพาล? มาเฟีย? แล้วกับสังคมที่ชอบตั้งคำถามว่าจบมาทำงานอะไร? การเรียนวิทยาศาสตร์เรียนไปทำไม? เป็นนักวิจัยไส้แห้ง? (อยากถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำงานอย่างอื่นไม่ได้) หรือสังคมมองว่าถ้าจะให้มีงานทำต้องเรียนคณะที่มีชื่ออาชีพรองรับ เช่น หมอ วิศวะ เภสัช ฯลฯ
อย่างสุดท้ายคงเป็นเรื่องของ “อุดมการณ์” ว่าถูกปลูกฝังมาอย่างไร
ซึ่งผมก็รู้สึกหดหู่เช่นเดียวกับเจ้าของบทความเหมือนกันครับ แต่ผมคนเดียวคงไปทานกระแสสังคมไม่ไหวที่ทำได้ก็เพียงแค่ ให้ตัวเองไม่เป็นแบบที่ตัวเองว่า และก็หวังว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายที่ว่ามาจะมีใครซักคนที่ยังมีอุดมการณ์อยู่บ้าง – -“
เรากำลังตกขบวนรถไฟไอที!
อืม..ในฐานะที่เป็นข้าราชการครูคนหนึ่งที่ได้สอนในมหาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในภาคเหนือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเจ้าของบทความ..มีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่าเด็กไทยหรือนักศึกษาไทยสมัยนี้เรียนตามกระแส..เรียนก็เพียงเอาให้ผ่านๆ ไปไม่คิดจะต่อยอดหรือพัฒนาอะไรใหม่ ๆขึ้นมาเลย..เชื่อหรือไม่นักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์เปลี่ยน Password ใน Windows XP ไม่เป็นครับ…ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาสมัยนี้และข้างหน้าเราจะล้าหลังไปอีกแค่ไหน.เด็กนักศึกษาที่ผมสอนรุ่นแล้วรุ่นเล่ามีพัฒนาการที่ถดถ้อยอย่างรุ่นแรงอย่างที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน
เราได้วางรากฐานการศึกษาของเราได้ดีพอหรือยัง?
เป็นคำถามที่ผมเคยถามหลายๆครั้งแต่ไม่เคยมีคำตอบกลับออกมาจากระดับบน..จะเห็นได้ว่าถึงแม้เราจะมีระบบการประเมิน สมศ หรือระบบอะไรหลายๆอย่างที่เชื่อว่าจะทำให้ระบบการศึกษาของไทยเราเช่น ห้ามตีนักเรียน ห้ามนักเรียนซ้ำชั้น การให้ค่าตอบแทนครู 3,500 บาท(ที่จะได้สิ้นเดือนนี้) การทำผลงานอาจารย์ระดับ 3 ฯลฯ มีใครจะตอบซักคนได้ไหมว่ามันทำให้ระบบการศึกษาของเราดีขึ้นบ้างไหม…จะเห็นได้ว่ามาตรการบางอย่างบ้องตื้อเกินไปง่ายๆอย่างระบบการประกัน สมศ เป็นการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกเพราะท้ายสุดแล้วไปดูได้เลยครับร้อยละ 99.00 จะผ่านการประเมินฟังดูแล้วมันขัดไหมกับครูคนเดียวที่ต้องสอน 4-5 วิชา ครูคนเดียวเป็นทั้งผู้อำนวยการ ครูน้อย และภารโรง มันขัดกันไหมที่บอกว่าโรงเรียนนี้มีคุณภาพ ครูคนเดียวอีกไม่นานจะกลายเป็น HERO คือเป็นได้ทุกอย่างตามที่เจ้าของนโยบาย(รัฐบาล)จะให้เป็น อย่างกรณีการทำผลงานอาจารย์ 3 ถามว่าครูตอนนี้ทำกันเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อหวังที่จะเอาเงินตำแหน่ง เจตนาที่แท้จริงแล้วคือเพื่อที่ครูจะได้พัฒนาตนเองไปสู่กระบวนการสอนและการถ่ายทอดความรู้ให้มีประสิทธิภาพ เงินเป็นค่าตอบแทนในความพยายามของตัวครูในการพัฒนายกระดับตัวครูให้เป็นไปตามเจตนาที่ได้ตั้งไว้(ผมเองก็เคยรับจ้างทำสื่อเพื่อประเมินขอตำแหน่งอาจารย์ 3มาก่อนเหมือนกันก่อนที่จะมาบรรจุรับราชการ) สถานศึกษาบางที่ครูไม่ได้มีจิตใจที่จะสอนหรอกครับเพราะห่วงเงินค่าตำแหน่งอาจารย์ 3 เลยปล่อยเด็กเลยตามเลย(พูดกันตรงๆคือไม่ได้สอน)ห่วงแต่จะไปนิเทศ(แนะนำ)เพื่อนครูด้วยกันว่าทำไงถึงจะได้ บางครั้งก็เป็นคนตรวจผลงานก็มี จะเห็นได้ว่าทำผลงานอาจารย์ 3 เพื่อตัวเองและเพื่อครู ไม่ได้ทำเพื่อนักเรียนอย่างแท้จริง (ผมไม่ได้ชี้นำแนะครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว)จะเห็นได้ระบบต่าง ๆที่เราได้ว่างที่แท้กลับกลายเป็นว่าเป็นตัวกระตุ้นทำลายการศึกษาไทยอย่างย่อยับ ทำลายความเป็นจิตวิญญานในอาชีพครูอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทำลายความเป็นผู้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับนักเรียนนักศึกษาอย่างเลือดเย็นที่สุด เป็นสิ่งผมอยากจะถามผู้รับผิดชอบว่าเราได้ว่างรากฐานการศึกษาของไทยเข้มแข็งดีพอหรือยัง
เรากำลังตกขบวนรถไฟไอที!
โรงเรียนบ้างแห่งไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ บางแห่งมีก็ใช้ไม่เป็น บางแห่งมีก็เอาไปเก็บไว้ที่บ้านเพื่อให้เพื่อนครูไปร้องคาราโอเกะที่บ้าน บ้างแห่งก็เอาไปให้ลูกสาวลูกชายที่บ้านใช้ นี่คือปัญาอันใหญ่หลวงว่าทำไมเรากำลังตกขบวนรถไฟไอที
ในมุมมองของผม หลายท่านๆก็คงเห็นปัญหาเหมือนที่คุณ Ford เห็นครับ
แต่ผมอยากฟังไอเดียของคุณ ford ในการแก้ไขมากกว่าครับ
เรื่องจะให้ภาคใดภาคหนึ่งเสียสละคงเป็นไปได้ยากในสังคมทุนนิยมในไทยแบบนี้
ดังนั้นคงต้องหาทางออกที่ win-win คือได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งผมเองก็ยังคิดไม่ออกเลยครับ