จริงๆ ผมพูดและนำเสนอความคิดในรายงานนี้ไปเยอะนะ แต่คงเพราะเวลาในการออกมีน้อยเพียง 5 นาที แถมมีส่วนที่ทำสรุปไว้แล้ว เลยได้ออกบางส่วนไม่ได้ทั้งหมด ผมเข้าใจได้นะ เพราะประเด็นมันเยอะมาก จนคนมานั่งฟังคงร้องบอกว่า “เออ พอเหอะ กูเข้าใจแล้ว”
ปัญหาเรื่องนี้มันมีหลายมิติ คุยกันทั้งวันก็ไม่จบ แถมจะกลายเป็นมานั่งปรับทุกข์ชีวิตสายวิชาชีพนี้กันเปล่าๆ
ส่วนตัวผมคิดว่าเพราะขั้นตอนวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยโดยบริษัททั่วไป ยังไม่มีความชัดเจนและแนวทางในการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ใช้การลองผิดลองถูกกันเยอะ หรือใช้มาตรฐานวิธีการทำงานจากงานแนวๆ สายอาชีพอื่นมาใช้ ซึ่งก็อาจจะออกแนวดันทุรังให้จบๆ ไปได้ แต่สุดท้ายงานก็ตกอยู่กับคนระดับปฎิบัติงานด้านล่าง (ข้อมูลนี้ได้มาจากเพื่อนๆ ในสายอาชีพผมหลายๆ คนที่มานั่งปรับทุกข์กันอยู่เรื่อยๆ)
ส่วนตัวผมเจอเพื่อนๆ ที่เขียนโปรแกรมเข้าขั้นใช้ได้ตอนเรียนจบ ซึ่งในรุ่นผมค่อนข้างหายากอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทำงานสายนี้ ไปสมัครเป็นทหาร ไปเป็นพ่อค้าขายมะลิ ขายข้าวแกง หรือไปขายหมูปิงก็มี เพราะสบายกว่า เสียสุขภาพน้อยกว่า ทำงานจบวันนึงก็คือจบ กลับบ้านอยู่กับครอบครัวแล้วไม่โดนตามงานตอนดึกๆ แถมเงินที่ได้ก็ไม่หนีกันมาก (หรืองานบางตัวก็รายได้ดีมากๆ) ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ลองก้าวออกจากสายอาชีพนี้เพื่อนๆ ผมเค้าอาจจะไม่ค้นพบความสุขในแบบที่เค้าต้องการ (ส่วนผมยังสนุกกับการแก้ไขปัญหาอยู่ ไม่แน่ใจว่าหมดไฟเมื่อไหร่ ฮาๆๆๆ)
บางครั้งมันไม่ใช่เรื่องค่าตอบแทนและสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ที่วิธีการทำงาน ที่สร้างความภาคภูมิใจในฐานะคนที่สร้างงานเหล่านั้นขึ้นมาด้วย หากแต่คนที่จ้าง คนที่สั่งงานไม่เห็นคุณค่าในฐานะคนสร้างงานแล้ว ก็ยากที่จะทำให้พวกเค้าเหล่านั้นทำงานให้เราได้เต็ม 100% (หรือมากกว่า) เมื่อคนเหล่านี้หมดความภาคภูมิใจในการทำงานนั้นๆ ผมคิดว่าก็ไม่มีใครอยากอยู่ในวิธีการทำงานนั้นๆ และอาจะลากยาวไปถึงชีวิตในสายอาชีพนี้ ที่วันๆ ถูกกดอยู่ในความไม่ภาคภูมิใจในตัวเองสักเท่าไหร่หรอกครับ
แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่า “ไอที” โลกของมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นงานสายงานอาชีพนี้ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ได้ ส่วนตัวผมเองนั้น ทุกๆ วันหลังจากทำงาน ก็ต้องมานั่งอัพเดทตัวเอง เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ดีมากขึ้นหรือต้องเช็คว่าตัวซอฟต์แวร์ที่เรากำลังพัฒนาอยู่นั้น ในบางส่วนของระบบมีช่องโหว่หรือความผิดพลาดอะไรหรือไม่จากการเจอ bug จากส่วนพัฒนาที่ต่อยอดออกมา และรวมไปถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งทำให้งานนั้นออกมาเร็วทันใจลูกค้าด้วย
สุดท้าย นี่ไม่ใช่การบอกว่าสายอาชีพนี้ทำงานหนักที่สุดในโลกหรอก โลกนี้ยังมีงานอีกมากมายที่หนักกว่านี้เยอะ รับความเสี่ยงมากเดี่ยวเช่นกัน แต่นั้นไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่เอาปัญหาของสายอาชีพของเราออกมาตีแผ่หรือมานั่งคิดว่า “ทำไม” มันถึงเกิดปัญหาขาดแคลนหรือคนไม่อยากทำงานในสายอาชีพนี้ เพราะถ้ามันมีปัญหาและไม่ตีแผ่ออกมาแล้วซุกมันไว้ มันก็จะเป็นอย่างเดิม (เหมือนมี bug แต่ไม่ยอมแก้ ปล่อยๆ มันไปแบบนั้น) ผมเชื่อว่าถ้าสายอาชีพอื่นๆ อยากทำบ้าง ก็ต้องดิ้นกันไปตามช่องทางที่ตัวเองมีครับ
ผมเชื่อว่า “กรรมกรไอที” ไม่ได้เกิดมาเพราะคิดขึ้นเองโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับคำนี้จริงๆ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และผมเชื่อว่ามีคนยังคิดแบบนี้ในอนาคตแน่ๆ
เอ้าาาา เอาเหอะ บ่นไปแล้วก็ทำงานกันต่อครับ อย่าไปคิดมาก ปัญหามันต้องแก้ไข ไม่ใช่ซุกไว้แล้วบอกว่า “ก็มันยังทำงานได้ปรกติดีนิ” ซึ่งมันไม่ใช่วิถีคนสายอาชีพของเรามั้งครับ และส่วนตัวผมยังอยู่ในสายอาชีพไอทีที่ยังใช้วิถีและวิชาที่ได้จากการเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่เรื่อยๆ ทุกๆ วัน เพราะตอนนี้ไม่ได้นั่งโค้ดมันอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว แต่ต้องเป็นได้มากกว่านั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวเองตามแนวทางคนทำงานด้านไอทีที่เปลียนแปลงอยู่ตลอดเวลาครับ ;)
ส่วนเรื่องสาวๆ ในสายอาชีพนี้เนี่ย ออกแนวเฮฮา แซวกันเฉยๆ คือไม่มีใครคิดกันจริงจังมากมายจนเป็นปัจจัยในการเลือกหรือไม่เลือกทำงานในสายอาชีพนี้เท่าไหร่หรอกมั้ง -_-”
ด้านล่างวิดีโอตัวแรกนี่ดูดีมากสำหรับ Software Engineer เลยนะ นี่มันโลกความฝันที่หาได้ยากในบ้านเราครับ
Day in the life…Software Engineer
แบไต๋ไฮเทค – รายงานพิเศษ: Thai Programmer Crisis