@FordAntiTrust

รับน้อง (นิธิ เอียวศรีวงศ์)

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ แต่เนื้อหายังคงกินใจและเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน ;)


จากมติชน – วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1296

ตามตำนานการรับน้องใหม่ที่พวกจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีประเพณีรับน้องเล่า ว่ากันว่าเริ่มจากนิสิตในหอพักก่อน (ตั้งแต่สมัยที่ยังมี "หอวัง" ซึ่งอยู่ในสนามกีฬาศุภชลาศัยปัจจุบัน) โดยนำเอาประเพณีทำนองเดียวกันซึ่งมหาวิทยาลัยของอังกฤษทำมา "เล่น" บ้าง

ประเพณีพิธีกรรมคือเครื่องมือการสร้างและ/หรือตอกย้ำแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม แม้ว่าอังกฤษและพวกจุฬาฯ รุ่นแรกๆ ทำพิธีแกล้งน้องเพียงวันเดียว (ที่จริงคืนเดียว) แต่ที่จริงก็คือการสร้าง/และหรือตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องต่อจากนั้นนั่นเอง

แน่นอนครับ ด้วยความหวังว่า ความเหลื่อมล้ำของอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งแสดงให้เห็นในพิธีกรรมนี้ จะดำรงอยู่อย่างถาวร ส่วนพิธีกรรมจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ในอังกฤษพิธีกรรมรับน้องล้มเหลว เพราะเงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนยอมรับอำนาจของคนอื่นเพียงเพราะเขาเป็น "รุ่นพี่" มีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จึงยากที่จะทำให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ชนิดที่พิธีกรรมรับน้องสร้างขึ้นอย่างถาวร

ตรงกันข้าม สังคมไทยสมัยใหม่ (คือหลัง ร.5 เป็นต้นมา) มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้แบบแผนความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กระแสหลัก จึงทำให้การรับน้องขยายตัวอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาทุกแห่งและทุกระดับ รวมทั้งขยายตัวออกไปสู่พิธีกรรมอื่นๆ ในชีวิตน้องใหม่ทั้งปี เช่น การประชุมเชียร์และการออกกำลังกายทุกเย็น เพื่อตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของอำนาจ และการยอมรับในความเหลื่อมล้ำนั้น

มีเรื่องที่ผมอยากสะกิดให้คิดเพื่อเข้าใจประเด็นตรงนี้อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก การรับน้องในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องของอำนาจอย่างชัดเจน อย่าไปดัดจริตหาเหตุผลอื่นๆ เลยครับ เพราะมันชัดเสียจนน่าจะขวยปากที่จะไปยกให้เรื่องอื่น นอกจากนี้ เรื่องอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะครับ ในทุกสังคม สมาชิกย่อมต้องเรียนรู้ แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมที่ตัวจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปทั้งนั้น

เรื่องที่สองก็คือ การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นประตูเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยสมัยใหม่ และในวัฒนธรรมของชนชั้นนำสมัยใหม่ของไทยนั้น แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจนมีความสำคัญมาก เพราะจำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ การเรียนรู้แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้จึงมีความสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวเข้าสู่ชนชั้นนำของสังคม น่าสังเกตนะครับว่า ประเพณีรับน้องใหม่เริ่มที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมและประถม ที่น่าสังเกตต่อมาก็คือ โรงเรียนมัธยมที่รับประเพณีรับน้องใหม่มาอย่างถึงพริกถึงขิงคือโรงเรียน "ผู้ดี๊ผู้ดี" เช่น โรงเรียนสาธิตของทุกมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนดังอื่นๆ เพราะเด็กมัธยมเหล่านี้ล้วนอยู่ในครรลองที่จะก้าวผ่านประตูไปสู่ความเป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น

ผมไม่เคยได้ยินว่าโรงเรียนประชาบาลวัดหลังเขามีการรับน้องใหม่เลย ก็เด็กทุกคนในโรงเรียนต่างรู้ว่า จบแล้วกูก็ออกไปทำนา หรือรับจ้างเหมือนพ่อแม่กูนั่นเอง และในสังคมแบบนั้นมีแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ

แหล่งที่มาของอำนาจในวัฒนธรรมไทยเดิม ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนเกษตรกรรมชนบทของปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก ผมหมายความว่า เราไม่อาจจัดบันไดเพียงอันเดียวเพื่อวางทุกคนลงไปตามขั้นบันไดได้หมด คนรวยก็มีอำนาจบนบันไดอันหนึ่ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็มีอำนาจบนบันไดอีกอันหนึ่ง จ้ำหรือ แก่วัดซึ่งอาจจะยากจน แต่มีความรู้ที่ชาวบ้านเห็นว่าจำเป็นแก่ชุมชนก็มีอำนาจอยู่บนอีกบันไดหนึ่ง จนถึงที่สุดลุงแก่ๆ คนที่หุงข้าวกระทะได้เก่ง ก็มีอำนาจในอีกบันไดหนึ่ง เพราะถ้าแกไม่ช่วย ก็จัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ไม่ได้

ฉะนั้น อำนาจในวัฒนธรรมชาวบ้านจึงกระจายไปยังคนต่างๆ ในชุมชนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้อยู่ในระบบลำดับขั้นของอำนาจเพียงระบบเดียว เหมือนองค์กรราชการ

ถ้านิยามอำนาจในระดับพื้นฐานเลย อำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความปรารถนาของตัว และในทุกสังคมมนุษย์การใช้อำนาจย่อมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาก็คือคนในวัฒนธรรมชาวบ้านอย่างที่ผมกล่าว ซึ่งมีอำนาจจากฐานที่ต่างกันจะใช้อำนาจแก่กันอย่างไร ?

นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก วัฒนธรรมชาวบ้านเชี่ยวชาญด้านกลวิธีที่หลากหลายและสลับซับซ้อน ในอันที่จะทำให้ความปรารถนาของตัวสัมฤทธิผล นับตั้งแต่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ รวมไปถึงสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, ใช้เส้น (เช่น ดึงเอาญาติผู้ใหญ่หรืออุปัชฌาย์ของคนที่เราจะใช้อำนาจมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก่อน), ใช้เสียงของคนหมู่มากบีบบังคับทางอ้อม, ยกย่องให้เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ, ฯลฯ

พูดให้ฟังขลังๆ ก็คือ ปฏิบัติการทางอำนาจ ของชาวบ้านละเอียดอ่อน และต้องใช้สติปัญญามากกว่าพวก "ปัญญาชน" ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก

เพราะ "ปัญญาชน" มีวัฒนธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จัดอำนาจไว้ในลำดับขั้นของบันไดเดียว ฉะนั้น การใช้อำนาจจึงง่ายมาก นั่นก็คือออกคำสั่ง ถ้าเกรงว่าเขาไม่เชื่อก็ข่มขู่ตะคอก ไปจนถึงใช้กำลังบังคับเอาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ชนชั้นนำไทยรู้จัก ปฏิบัติการเชิงอำนาจ อยู่อย่างเดียว คือบีบบังคับ อีกทั้งไม่รังเกียจความรุนแรงที่จะใช้ในปฏิบัติการเชิงอำนาจอีกด้วย ขอแต่ให้ผู้ใช้ความรุนแรงนั้นยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องของบันไดแห่งอำนาจเท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่ผู้คนในสังคมซึ่งเข้าถึงสื่อพากันสนับสนุนการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด, เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้, สนับสนุนการขจัดอาชญากรรมด้วยโทษที่รุนแรง เช่น จับอาชญากรคดีข่มขืนตอน หรือนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีอุกฉกรรจ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการลดหย่อน ฯลฯ

ก็สั่งแล้ว ไม่ฟังนี่หว่า

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผู้คนซึ่งได้รับการศึกษาสูงๆ และสังกัดอยู่ในชนชั้นนำพูดว่า คนไทยชอบให้ใช้อำนาจเด็ดขาด, เฉียบขาด, เฉียบพลัน และรุนแรง ผมอดรู้สึกทุกครั้งไม่ได้ว่า พวกมึงเท่านั้นหรอกที่เป็นอย่างนั้น ชาวบ้านไทยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

กว่าชุมชนในชนบทจะตัดสินใจทำอะไรร่วมกันได้สักอย่าง มีการเจรจาต่อรอง โอ้โลมปฏิโลม รวมทั้งนวดเส้นเกาหลังกันมามาก จึงจะได้มติเอกฉันท์ของชุมชน โดยไม่มีใครสั่งให้ใครทำอะไร (อย่างออกหน้า) เลย

วัฒนธรรมราชการจึงเป็นเรื่องตลกในหมู่บ้านเสมอมาไงครับ เพราะทุกคนขอรับกระผมกับนายอำเภอเสมอ โดยไม่เคยทำตามที่นายอำเภอสั่งสักครั้งเดียว

ก็นายอำเภอทุกคนต่างจบมหาวิทยาลัยและผ่านพิธีกรรมรับน้องมาแล้วทั้งนั้น ทั้งในฐานะรุ่นน้องและรุ่นพี่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของรุ่นพี่ก็คือ จะกลืนอำนาจเถื่อนของตัวเข้าไปในระบบแห่งอำนาจที่เป็นทางการได้อย่างไร ตราบเท่าที่กลืนไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้รุ่นน้องยอมรับบันไดแห่งอำนาจอันเดียวได้

รุ่นพี่ที่จุฬาฯ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องกลายเป็น "ประเพณี" ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของนิสิตมหาวิทยาลัยนั้น

อะไรที่เป็น "ประเพณี" ไปแล้วนี่เลิกยากนะครับ เพราะถ้าเลิก "ประเพณี" นี้ได้ เดี๋ยวก็จะพาลไปเลิก "ประเพณี" โน้นเข้าอีก และมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะจุฬาฯ นั้น เขาตั้งขึ้นมาทำไมหรือครับ หนึ่งในหน้าที่หลักคือตั้งขึ้นมาเพื่อรักษา "ประเพณี" น่ะสิครับ โดยเฉพาะ "ประเพณี" ทางสังคมและการเมืองซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่อภิสิทธิ์ชน

ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รุ่นพี่สร้างขึ้นครอบงำรุ่นน้อง (และแสดงออกให้สังคมได้รู้ผ่านพิธีกรรมรับน้อง) จึงได้รับการยอมรับและส่งเสริมโดยนัยยะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เสมอมา

สมัยผมเรียนจุฬาฯ บางคณะมีกฎห้ามไม่ให้น้องใหม่ใช้บันไดหน้าขึ้นตึกบางแห่ง อาจารย์คณะนั้นก็รู้ แต่ไม่เคยมีใครบอกน้องใหม่ว่า นี่ไม่ใช่กฎของมหาวิทยาลัย น้องใหม่ต้องแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องเป๊ะ บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ช่วยกวดขันให้ด้วย แต่ไม่เคยกวดขันกับรุ่นพี่เลย (เช่น เด็กผู้หญิงต้องสวมถุงเท้าขาวจนกว่าจะผ่านปี 1 แล้ว)

มาในภายหลัง ผมพบว่าน้องใหม่ถูกบังคับขืนใจโดยเปิดเผยมากขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย บังคับให้วิ่งและซ้อมเชียร์กันทุกเย็นจนดึกดื่น มีว้ากเกอร์ออกมา "ปฏิบัติการทางอำนาจ" ที่สิ้นปัญญาให้เห็น ฯลฯ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนร้อนใจต่อแบบปฏิบัติของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไร้ความเท่าเทียม และทำลาย "มนุษยภาพ" อย่างซึ่งๆ หน้าเช่นนี้เลยสักแห่งเดียว

ถึงส่วนใหญ่ของน้องใหม่ไม่ได้ฆ่าตัวตายทางกาย แต่ทุกคนตายทางวิญญาณ และสติปัญญาไปหมดแล้ว ภายใต้สายตาของมหาวิทยาลัยนั้นเอง

ที่มหาวิทยาลัยไม่กระดิกทำอะไรตลอดมานั้น ก็เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้คือวัฒนธรรมของอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่น้องใหม่ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคม จะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมนี้

ปัญหารับน้องใหม่จึงไม่ใช่นอกหรือในสถานที่, หรือท่าเต้นที่น้องถูกบังคับให้ทำมันลามกอนาจารหรือไม่, หรือครูดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่ ฯลฯ มันลึกกว่านั้นแยะครับ

เพราะมันเกี่ยวกับวัฒนธรรมอำนาจของชนชั้นนำไทย ซึ่งรุ่นพี่, อาจารย์, ผู้บริหาร, สังคมคนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตัวน้องใหม่เอง ต่างสังกัดอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจอันเดียวกันนี้

ฉะนั้น ถ้าอยากแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้ที่ตัวพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้คนยอมรับอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ให้ระบบการศึกษาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว เช่น มีเด็กที่ได้เป็นวีรบุรุษ-สตรีเต็มไปทั้งห้อง (เมื่อไหร่เด็กคะแนนบ๊วย แต่วาดเขียนเก่งจึงจะได้รับการยกย่องเท่ากับที่หนึ่งของห้องเสียที) ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ที่ระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นนำนั่นแหละ ให้ยอมรับอำนาจที่หลากหลาย และ ปฏิบัติการทางอำนาจ ที่ต้องใช้เหตุผลกันมากขึ้น แทนที่จะใช้แต่ตำแหน่งบนขั้นบันได

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ถึงเราไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จำลองมาจากองค์กรราชการซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์กระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำไทย กำลังจะถูกท้าทายมากขึ้นจากระบบความสัมพันธ์แบบอื่นเรื่อยๆ ถึงจะยกกันขึ้นไปเป็นซีอีโอ นับวันซีอีโอก็ทำอะไรไม่สำเร็จมากขึ้น จนเกือบจะกลายเป็นตัวตลกไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพิธีรับน้องและการปฏิบัติต่อน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย คือสัญญาณของการล่มสลายของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังจะพ้นสมัยไปเสียแล้ว

Exit mobile version