@FordAntiTrust

ไม่รู้จะอธิบายยังไง? “สิ่งที่ควรจะมีในใบเสนอราคาตอนรับทำเว็บ”

จากทวีตที่ได้ทวีตไป

ผมอยากทำเว็บแนว Facebook แต่ผมมีงบ 50,000 บาท คุณพอช่วยผมได้ไหม" #อยากเอาหัวโขกข้างฝาตาย ><"

คือถ้าคุณต้องการทำเว็บแนว Social Network หรือจริงๆ ก็อะไรที่มีคนเข้าเยอะๆ หลักหมื่นหรือแสนคนต่อวันขึ้นไป มันไม่ใช่แค่คุณมีเว็บที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมมิ่งอย่างเดียวแล้วจบนะ มันมีเรื่องของการออกแบบหน้าตาของเว็บ (ซึ่งหลังๆ มืออาชีพในสายงานนี้มักจะคิดราคาแยกต่างหากกันอยู่แล้ว) และระบบ Server/Infra ที่มารองรับการใช้งานตัวเว็บซึ่งอยู่เบื้องหลังอยู่อีก
โดยต้องบอกก่อนเลยว่า ยิ่งคนเข้าเว็บที่คุณสร้างขึ้นมาเยอะเท่าไหร่ คุณก็ต้องจ่ายออกไปเป็นค่าระบบที่เอามารองรับการเข้าเว็บมากขึ้นไปด้วย นี่ยังไม่รวมค่า b/w ที่คุณต้องจ่ายให้ IDC ด้วยนะ เพราะถ้าคุณฝากตัวระบบไว้ในประเทศไทย link ระหว่างประเทศของคุณจะมีค่ามากๆ โดยราคาหลัก 1 Mbps อยู่ที่หลักหมื่นบาทหรือหลายหมื่นต่อเดือน (Link ของ IDC ต่อ inter connection)
นี่ยังไม่รวมสิ่งที่ผมมักผมเจอบ่อยๆ กับคนที่อยากได้เว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ไม่ทราบว่าต้องมีการจดชื่อเว็บ (Domain Name) และพื้นที่สำหรับฝากไฟล์เว็บที่จัดทำขึ้น (Web Hosting) ซึ่งมีค่าใช้ย้ายแบบเช่าใช้งานเป็นรายปี (หรือรายเดือน) ซึ่งเป็นราคาที่แยกต่างหากจากค่าเขียนระบบและงานออกแบบหน้าเว็บอีกด้วยนะ

ซึ่งทั้งหมดรวมกันแล้วจะมีการใช้เงินลงไปในเนื้องานอยู่พอสมควร ผมว่าคนที่เคยรับทำคงตีราคาคราวๆ ได้ว่าเท่าไหร่

จากที่บอกไป คงพอทราบภาพใหญ่ๆ แล้วว่าปรกติทำเว็บ 1 เว็บเนี่ยเรามีปัจจัยอะไรบ้าง (มันเยอะนะ แต่อันนี้ผมเอาแค่หลักๆ พอ)

แล้วเวลาผมเสนองานต่างๆ ผมคิดโครงสร้างและแบ่งส่วนงานในการเสนอราคาเป็น checklist ดังต่อไปนี้

  1. Data ETL.
    เป็นค่าใช้จ่ายในการกรอกข้อมูลใหม่ หรือการแปลงข้อมูลเข้าระบบจากระบบหนึ่งมาที่ระบบที่พัฒนาใหม่ และรวมถึงการจัดระเบียบข้อมูลที่ลูกค้าส่งมาแล้วใส่ลงในระบบ อันนี้บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่ามีข้อมูลตั้งต้นเยอะแค่ไหน บางครั้งเจอข้อมูลจำนวนมากๆ จนต้องจ้างคนมาช่วยใส่ข้อมูลให้ก็มี เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงตรงส่วนนี้ไว้
  2. Translate UI
    กรณีที่ระบบมีหลายภาษา ก็ต้องมีการแปลหรือจ้างคนมาแปล และในหน้า UI ก็ต้องมาไล่แก้ไขภาษากันทุกๆ String ซึ่งใช้เวลาอยู่พอสมควร
  3. Theme and CSS Layout Design
    งานออกแบบหน้าเว็บและการตัดหน้ากราฟฟิกต่างๆ ของเว็บ โดยอาจจะมีราคา Font ที่ใช้ในการทำ Theme และราคาของรูปภาพต่างๆ ที่นำมาใช้ในตัวเว็บใส่เสนอมาด้วย ซึ่งบางภาพอาจจำเป็นต้องซื้อจาก Stock Photo ต่างๆ ซึ่งทั้งราคาของ Font และ Stock Photo นั้นจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ในสื่อใดบ้าง และในส่วนรูปภาพก็ราคาตามขนาดของรูปภาพและระยะเวลาในการนำไปใช้ (ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อขาดมาเลย)
  4. General Implement
    การ Implement ระบบ ถ้ามีการ Custom ก็เพิ่มเป็น 3.1 – 3.n ไป แต้ถ้าแยกจนเป็นระบบใหม่ ก็เป็นข้อใหญ่ 4. – N. ไปซึ่งการแก้ไขงานในส่วนนี้ก็ต้องคิดเป็นราย issue ไป รวมไปถึงการปรับเพิ่ม-ลดระยะเวลาของงานนั้น ต้องตามความเหมาะสมในการแก้ไขงาน โดยการแก้ไขงานแต่ละครั้งต้องมีขอบเขตชัดเจนและมีจำนวนครั้งจำกัดหรือกำหนดระยะเวลาในการรอการ feedback เพื่อปิด issue ไม่งั้นเจอลูกค้าลากยาวจนลืม และเป็นการกำหนดกรอบเวลาให้ลูกค้าด้วยว่าต้องใส่ใจในการส่ง feedback กลับมา
  5. Domain Name
    ชื่อเว็บ ถ้ามีอยู่แล้วก็ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม อะไร นอกจากลูกค้าจะมีเรื่องการย้าย หรือเรื่อง support อื่นๆ ถ้าไม่ได้เยอะก็แถมๆ ไป แต่ถ้าต้องดำเนินเรื่อง หรือย้ายมาให้เราดูแลก็คิดเงินไปตามเนื้อผ้า
  6. Web Hosting
    หรืออาจจะเป็น Dedicated server, Colocation server or Cloud server อันนี้ปรกติตอนแรกก็ต้องดู scale เล็กกันก่อน แล้วค่อยไปเล่น scale ใหญ่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงาน
  7. Training & Document
    ค่าทำเอกสารคู่มือ และอบรบการใช้งานต่างๆ ตรงนี้ต้องคิด เพราะมีค่าเดินทางและค่าสอนด้วย จำไว้เสมอค่าทำระบบไม่รวมค่าทำเอกสารครับ ไม่งั้นคุณต้องใช้เวลาทำเอกสารพอๆ กับทำระบบกันเลยทีเดียว (ยิ่งมีการแก้ไขระบบก็ต้องกลับมาแก้เอกสารด้วย)
  8. Maintenance
    ค่าดูแลและแก้ไขข้อผิดพลาดของระบบ ปรกติผมจะเน้นเรื่อง bug และ security เป็นหลัก ตรงนี้คิดเป็นรายปี ซึ่งไม่เกี่ยวกับ new feature ที่มันมาเพิ่มในข้อ 3. ด้านบน ตรงนี้ลูกค้าต้องจ่ายไม่อย่างนั้นก็ต้อง support ตัวเองไปหลังจากที่ระบบขึ้นไปแล้ว โดยปรกติผม Maintenance ให้แบบยังไม่คิดค่าใช้จ่ายในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยเป็นช่วงหลังจากส่งมอบงานแล้วขั้นต่ำ 1 เดือน สูงสุด 3 เดือน

อันนี้คือคราวๆ ที่ผมคิดไว้นะ ซึ่งจะเห็นว่าจะมีครบตั้งแต่ input, process, output และ maintenance ส่วนตัวแล้วคิดว่าครอบคลุมในสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่รับๆ มา และบางอย่างเป็นสิ่งลูกค้านึกไม่ถึง ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า บางอย่างไม่คิดเนี่ยขาดทุนแน่ๆ ครับ

หลายคนคงถามว่า ถ้าคิดรวมไปในราคาส่วนใดส่วนหนึ่งได้ไหม ก็ตอบว่าได้ครับ แต่ถ้าแยกแยะออกมาจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าลูกค้ามีค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้างจริงๆ จะลดการตอบคำถามลงไปได้เยอะ เราจะอธิบายได้ชัดเจนมากๆ ว่าแต่ละส่วนเราทำอะไร และถ้าเค้าต้องการตัดออกจะลดค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่

Exit mobile version