การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยต้องเริ่มที่ตัวเรา

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีสูงมาก เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ราคาที่สูง, องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถทำได้ง่ายกว่าการซื้อหาของถูกต้องตามลิขสิทธิ์, การไม่เคารพสิทธิ์ด้านทรัพท์สินทางปัญญา, แหล่งซื้อขายซอฟต์แวร์ถูกต้องตามลิขสิทธิ์หาได้ยาก, ข้อมูลซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ซับซ้อน ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจเรื่องชนิดของลิขสิทธิ์หลากหลายรูปแบบ ฯลฯ

ปัญหาดังกล่าวทำลายวงการซอฟต์แวร์ในประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยนั้นผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติและราคา เหมาะสมกับคนไทย แต่เมื่อนำไปเทียบกับคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในราคาที่ถูกกว่า (ผู้เขียน: ถึงจะเป็นของต่างชาติหรือของคนไทยด้วยกันเองก็แล้วแต่ก็จะเจอข้อเปรียบ เทียบนี้ด้วยเช่นกัน) ทำให้ส่วนต่างราคามีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้ออยู่มาก

ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกันอยู่มาก ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายในการงานวิจัยและพัฒนา, การสนับสนุนหลังการขาย โดยเฉพาะการติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการขั้นตอนพัฒนา และการดำเนินการด้านการตลาด เป็นต้น ต่างจากซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีเพียงต้นทุนการคัดลอกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้วงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

ทางแก้ไขที่ดีกว่าน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดว่าซอฟต์แวร์นั้นมีมูลค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะได้มาด้วยรูปแบบของซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ซอฟต์แวร์เสรี ฟรีแวร์ แชร์แวร์ และรวมไปถึงซอฟต์แวร์ทดแทนอื่น ๆ ตรงนี้เกิดจากคนไทยส่วนหนึ่งไม่ได้มองว่าซอฟต์แวร์นั้นมีมูลค่าเช่นเดียวกับอุปกรณ์ไอทีที่จับต้องได้ เราควรมองว่ากำลังนำซอฟต์แวร์มาใช้งานเพื่อนำไปสร้างผลผลิตเช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่จับต้องได้ และเงินที่จ่ายให้บริษัทซอฟต์แวร์ไปนั้นถือเป็นการอุดหนุนวัฏจักรการพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อีกทางเลือกหนึ่งการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ทดแทนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอเพนซอร์สหรือฟรีแวร์ แต่เราก็ควรจะผสมผสานการใช้งานทั้งซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ในจุดที่จำเป็น และซอฟต์แวร์ทดแทนให้จุดที่ใช้งานแทนได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะซอฟต์แวร์ทดแทนมีข้อจำกัดในบางด้าน เช่น การอ่าน-เขียนไฟล์ของซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ที่ติดสิทธิบัตร ถ้าเราจำเป็นต้องใช้งานส่วนนี้ และซอฟต์แวร์ทดแทนไม่สามารถตอบสนองให้กับเราได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือต้องยอมลงทุนลงไปเพื่อให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้

ซอฟต์แวร์ทดแทนโดยทั่วไปมีรูปแบบการทำงานบางส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์แบบเดิมๆ แต่เงื่อนไขของซอฟต์แวร์เสรีทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนตัวซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับที่ตัวเองต้องการได้เสมอ แต่นั่นหมายถึงเงินทุนและเวลาในการจ้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้แก้ไขตามที่เราต้องการ

การแก้ไขปัญหาการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์จะต้องเริ่มต้นจากทุกคนช่วยกันสร้างเสริมแนวคิดที่ไม่ละเมิดลิขลิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยต้องเริ่มต้นในทุกระดับอายุ จึงต้องมีบุคคลต้นแบบ เพื่อให้เกิดการเอาเป็นแบบอย่างในการอ้างอิงแนวคิด และการเริ่มต้นส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์ทดแทน โดยทั้งหมดนี้ไม่ใช่ต้องการลดการพึ่งพาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์จากต่างชาติทั้งหมด แต่เป็นการเริ่มต้นเคารพความคิดด้านทรัพท์สินทางปัญญา  ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจซอฟต์แวร์ภายในประเทศเติบโตต่อไปได้ ในอนาคตเราก็คงต้องต้องผลักดันกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทุกอย่างเดินทางในเส้นทางที่ถูกต้องเสียที

ผู้เขียน Ford AntiTrust

จาก Blognone Year Book 2008