Review – Lenovo IdeaPad Y570

การ review รอบนี้อาจจะแปลกสักหน่อยที่ไม่ได้ review ตัว ThinkPad แต่ก็อยากจะลองในอีกสายนึงของ Lenovo คือฝั่ง IdeaPad บ้าง โดยส่วนตัวแล้วนั้นได้รับเครื่องนี้มา review มาใช้อยู่ประมาณเกือบๆ 2 อาทิตย์ พร้อมๆ กันถึง 2 รุ่น คือ Lenovo IdeaPad Y570 (59301113) กับ Lenovo IdeaPad Y470 (59067781) ส่วนตัวแล้วก็มานั่งสลับใช้งานไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 เครื่อง

สัมผัสแรกก่อนเลยคือ กล่องบรรจุของ Y570 นั้นใหญ่และหนักใช้ได้เลย (ต่อไปจะเรียก Lenovo IdeaPad Y570 ย่อๆ ว่า Y570 เฉยๆ เพื่อความสั้นกระชับ) ซึ่งแน่นอนว่าจากที่ได้รับมานั้นก็ได้ศึกษาสเปคมาพอสมควรแล้วว่าเป็นรุ่นหน้าจอขนาด 15.6” มีน้ำหนักอยู่ในระดับเกือบๆ 3 กิโลกรัม (รวม adapter มันก็ประมาณนี้แล้ว)

DSC_6944

DSC_6957

เครื่องที่ได้รับมานั้นได้ใส่ CPU Intel Core i7-2630QM ที่ความเร็ว 2.0 GHz มี 6MB L3 Cache ถ้าใช้ Turbo Boost จะทำให้ความเร็วพุ่งสูงขึ้นไปที่ 2.90 GHz เลยทีเดียว เหมาะกับเอามาตัดต่อวิดีโอ แต่งรูป หรือเล่นเกมได้สบายๆ

โดยมาตรฐานแล้ว Lenovo ใส่ RAM มาให้เป็นพื้นฐานเลยคือ DDR3 ขนาด 4GB 1,333Mhz แถมใส่มาแถวเดียวเลยเผื่ออัพเพิ่มในอนาคตได้ทันทีไม่ต้องถอดของเก่าขายทิ้ง ซึ่งเมื่อได้ RAM มาถึง 4GB ผมจึงแนะนำให้ลง Microsoft Windows 7 64bit หรือ Operating System รุ่นอื่นๆ แบบ 64bit เพื่อให้ได้ใช้งานหน่วยความจำได้อย่างเต็มที่เช่นกันครับ

Untitled

ส่วนของคะแนนของ Windows Experience Index นั้น จะเห็นว่าคะแนน Windows Aero ต่ำอาจเพราะใช้ VGA ตัวของ Chipset Intel เองเลยดูจะด้อยๆ ลงไป เสียดายมาก ผมหาแผ่นเกมโหลดหนักๆ โหดๆ ไม่ได้ตอนทดสอบ อยากลอง nVidia GeForce GT 555M (1GB GDDR5) เหมือนกัน

Untitled2

ด้วย Intel Core i7-2630QM เมื่อเปิด Intel Hyper-Threading Technology จะเห็นจำนวน Core เป็น 8 ตัว (จริงๆ มี 4 แต่ทำงานได้ 8 Thread พร้อมกัน)

การ์ด Wireless นั้นให้มาเป็น Intel Centrino Wireless-N 1000 ซึ่งเป็นแบบ Dual-stream (1×2) ในแบบ single-band (2.4 GHz) รองรับ 802.11b/g/n WiFi Standard ซึ่งให้ความเร็วสูงสุดที่ 150Mbps ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานตามบ้านครับ

สำหรับ HDD นั้นระบุว่าเป็น 750GB 5400rpm นั้น ให้เป็น Western Digital Scorpio Blue 750 GB ครับ ถ้าซื้อมาแล้วแนะนำให้เปลี่ยนเป็น Western Digital Scorpio Black 500 GB 7200rpm จะทำให้เร็วขึ้นกว่านี้ได้อีกพอสมควร

Untitled3

มาดูด้านรูปร่างหน้าตากันบ้าง สิ่งแรกที่เห็นตอนเปิดออกมาจากกล้องคืนออกแบบเรียบๆ ดูหรู่ดีในมุมคนใช้ ThinkPad มาก่อน น่าจะเหมาะกับคนที่ไม่ชอบอะไรดำๆ ทึมๆ เท่าไหร่นัก

DSC_6930

Slot สำหรับอ่าน Memory Card แบบ 6 in 1 อยู่ตรงกลางเลยและด้านขวาเป็นสวิตซ์สลับการ์ดจอบน Intel Chipset กับ NVIDIA Optimus และขวาสุดเป็นสวิตซ์เปิด-ปิด Wireless Network ทั้งหมด

DSC_6933 DSC_6934

ด้านขวาของเครื่องมี USB 3.0 มาให้ 2 port ให้มาแบบจัดหนักมากอันนี้ถือว่าดีมากสำหรับส่วนนี้ แน่นอนว่าเครื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องมาพร้อมกับ SuperMulti Drive แน่นอน ส่วนถัดมาด้านข้างคือที่เสียบสายชาร์จพร้อมกับ Kensington Lock

สำหรับด้านซ้ายมี D-Sub/VGA Port และ HDMI สำหรับนำสัญญาณภาพจากเครื่องเราออกไปจอภาพภายนอก ส่วนถัดมาคือแผงระบายความร้อนขนาดใหญ่ทีเดียว หลายคนคิดว่ามันต้องร้อนและเสียงดังแน่ๆ แต่จากการใช้งานและในห้องเงียบๆ ถ้าไม่ Full Load เสียงจะหึงๆ เล็กๆ เท่านั้นเองครับ ถัดมาคือ Gigabit Ehternet Port ต่อด้วย e-SATA Powered USB 2.0 ในตัว ถัดมาคือ USB 2.0 และช่องต่อหูฟังและไมค์แยกกัน (แปลกมาก เพราะรุ่นหลังๆ จะเป็น combo มาให้)

ด้านหลังเครื่องไม่มีอะไรให้ต่อครับ แผงใส่แบตล้วนๆ ยาวจากขอบบานพับซ้ายไปขวาเลย เป็นแนวการใส่แบตของ Lenovo แบบมานี้ได้หลายปีแล้ว ซึ่งการทำแนวการใส่แบตแบบนี้ทำให้การเพิ่มเซลแบตเพื่อเพิ่มจำนวนชั่วโมงการใช้งานทำได้ง่ายขึ้น (และหนักขึ้นด้วย)

DSC_6937 DSC_6939

DSC_6942 DSC_6987

เมื่อเปิดฝาเครื่องมา การผลักฝาเครื่องไม่ยากเลย ลื่นและง่ายไม่ต้องจับตรงที่วางมือเพื่อดันตัวจอภาพขึ้นมาแต่อย่างใด ซึ่งเจ้า Y570 นี้ไม่มีตะขอเกี่ยวจอแต่เป็นแม่เหล็กในการดูดที่ขอบด้านล่างของที่วางมือแทนตามสมัยนิยมครับ

สำหรับจอภาพที่ให้มานั้นขนาด LCD LED 15.6″ Resolution WXGA (1366×768 pixel) ดูๆ แล้ว Resolution ที่ให้มาจะน้อยไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับขนาดของจอภาพที่ใหญ่เต็มตาแบบนี้ (ถ้ามัน Full HD จะดีมากเลยทีเดียว) แต่คงเพราะต้องการทำราคาให้ถูกให้ได้มากที่สุดเป็นหลักมากกว่า

จากการวัด Gamut RGB color space ของจอภาพ Lenovo IdeaPad Y570 ที่ได้จาก Spyder3Pro นั้น ซึ่งจอภาพเครื่องที่ได้มาทดสอบเป็นแบบ Glossy การแสดงขอบเขตของสีดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ LCD LED แบบ Anti-glare ปรกติใน ThinkPad เล็กน้อยมากในบางช่วงโทนสี โดยลองดูขอบเขตการแสดงผลของสีจอภาพเทียบกับ sRGB และ AdobeRGB ได้จาก Chart ด้านล่างครับ

DSC_6977

2011-07-31_030117

ดูบานพับกันชัดๆ อีกที ลักษณะของการเปิดจอแบบนี้จะทำให้เราเปิดกางแบบ 180 องศาไม่ได้แน่นอนมากสุดตามที่ระบุไว้คือ 135 องศาก็เต็มที่แล้ว สำหรับคนที่ชอบแนวๆ นี้คงดูไม่ซีเรียสมากนักครับ

ลำโพงที่ให้มาเป็น 2.0 JBL Dolby Home Theatre SRS ทำให้ฟังเพลงได้เสียงที่ดีทีเดียว แต่ถึงจะดียังไงก็อยู่ในระดับเสียงช่วงนึงเท่านั้น พอผ่านช่วงเสถียรของเสียงที่ได้ จะเริ่มแตกและรายละเอียดเริ่มหาย เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเปิดดังๆ ก็ควรต่อลำโพงแยกชุดดีๆ ไปอีกชุดตามกำลังทรัพย์และความพึงพอใจครับ

DSC_6943 DSC_6952

ตัวคีย์บอร์ดที่ให้มานั้นมาพร้อมกับ Numpad ด้วย ซึ่งคนเล่นเกมคงชอบกันเพราะนอกจากจอภาพที่ใหญ่ 15.6” แล้วยังใช้ Numpad ในการทำประโยชน์ตอนเล่นเกมส์ได้ ส่วนคนที่ทำบัญชีหรือทำงานกับตัวเลขเยอะก็น่าจะเหมาะเช่นกัน แต่ด้วยขนาดจอภาพที่ใหญ่โตก็คงต้องชั่งใจสักหน่อยในส่วนนี้ถ้าต้องเดินทางบ่อยๆ ครับ

ตัวคีย์บอร์ดนั้นเป็นไปตามสมัยนิยม แบบ Chiklet โดยตรงกลางจะเว้าลงเล็กน้อยให้รับกับนิ้วมือของเรา จากการที่ลองพิมพ์อาจจะต้องปรับตัวสักเล็กน้อยสำหรับคีย์บอร์ดแบบ 6 rows (คนใช้คีย์บอร์ดแบบ 7 rows มาก่อนอาจจะดูแปลกๆ) ซึ่งสัมผัสการพิมพ์ต่างๆ นั้นทำได้ดี อาจจะไม่แน่นเท่า ThinkPad แต่ก็พิมพ์สสัมผัสสนุกสนานและรวดเร็วได้สบายๆ โดยไม่เกิดอาการล้าเพราะอาการยวบของคีย์บอร์ดให้เห็นในการใช้งานแต่อย่างใด

สำหรับตัวคีย์บอร์ดนั้น ปุ่ม fn และตามด้วย function key (f1-f12) นั้นเราสามารถปรับสลับใน BIOS ได้ครับ และเจ้าตัวปุ่ม fn และ ctrl ก็สามารถตั้งสลับการใช้งานได้อิสระเช่นกัน สำหรับคนที่คุ้นเคย fn ในตำแหน่ง ctrl มากกว่าแบบมาตรฐานที่ให้มาครับ

ในส่วนของ Touchpad นั้นต้องยอมรับว่าโดยส่วนตัวแล้วต้องปรับตัวอยู่พอสมควรเพราะไม่ลื่นเท่าที่เคยใช้งานมา (หรือเพราะมันยังใหม่อยู่ก็ไม่รู้) โดยรวมแล้วนั้นปุ่มกดต้องออกแรงสักหน่อยไม่งั้นจะกดไม่ลงครับ ตรงนี้ต้องอาศัยคามเคยชินสักนิด ส่วนสัมผัสในการลากไป-มานั้นต้องฝึกหน่อยก็น่าจะเข้าที่เข้าทาง ในส่วนนี้ตามมาตรฐาน Notebook ทั่วไปครับ ส่วนที่มีมาแน่ๆ คือ Multi-touch ใส่มาแทบจะเป็นมาตรฐานไปแล้วสำหรับ Notebook ในปัจจุบัน

DSC_6964

DSC_6953 DSC_6955

ด้านล่างตัวเครื่องแบ่งส่วนๆ แผงใหญ่สุดคือส่วนของที่เปิดออกมาเพื่อปรับเปลี่ยน RAM, HDD, PCI-e ได้ในแผงเดียวเลย ซึ่งเปิดแผงออกมาหมดก็จะแบ่งสัดส่วนชัดเจนครับ ง่ายต่อการเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองไม่ยากนัก

DSC_6993

DSC_6980

มี PCI-e ว่างอยู่ 1 Slot เผื่อใส่ SSD แบบ mSATA หรือ Intel Turbo Memory ก็ได้

DSC_6983 DSC_6984

ส่วนของ HDD ตอนแกะมาเปลี่ยนอาจจะต้องระวังสักหน่อยนะครับ เพราะตัวพลาสติกบางสักหน่อย

ส่วนของระบายความร้อน CPU Core i7 นี่ให้มาใหญ่ใช้ได้เลย และใกล้ชิดกับตัวแพงระบายความร้อนมาก คาดว่าเพราะความร้อนของ CPU ด้วยเลยต้องออกแบบมาเป็นแบบนี้

DSC_6985 DSC_6986

กล่าวโดยสรุป

ส่วนตัวแล้วจากการได้ทดสอบ Lenovo IdeaPad Y570 เป็น Notebook ที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้นเร้าใจในด้านความบันเทิงอย่างมาก ด้วยจอภาพขนาด 15.6″ มาพร้อมกับ nVidia GeForce GT Series ทำให้ตอบสนองได้คุณภาพของ 3D ที่สวยงาม และความเต็มตาในการแสดงผลด้วยจอภาพขนาดใหญ่ อีกทั้งยังพ่วงลำโพง JBL Dolby ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีอีกด้วย

ประทับใจ

  • คีย์บอร์ดพิมพ์ได้ดี Numpad สามารถใช้งานได้ด้านบัญชีหรือผู้ใช้ที่ต้องการใช้งาน Numpad แบบจริงจังได้ดี ส่วนของสัมผัสในการพิมพ์แตกต่างจาก ThinkPad บ้าง แต่ก็แน่นและพิมพ์ไม่ยวบจนน่ารำคาญในการใช้งาน
  • USB 3.0 ให้มา 2 port ให้มาไม่กั้กเลย
  • วัสดุฝาหลังและเสื้อพสาสติกบริเวณที่วางมือทำได้น่าประทับใจมาก ดูดีมีราคาใช่เล่น ไม่ลูกกวาดเกินไป
  • จอภาพใหญ่เต็มตามาก
  • CPU/GPU แรงและเร็ว ให้มาเต็มที่เลย
  • สำหรับระบบระบายความร้อนนั้นออกแบบมาดี รองรับความร้อนมหาศาลของสองตัวผู้เผาพลังงานอย่าง CPU/GPU ได้สบาย
  • การถอดเปลี่ยน RAM/HDD ทำได้ง่ายไม่ต้องอาศัยคู่มือ

ไม่ประทับใจ

  • Resolution 1366×768 pixel ของจอภาพให้มาน้อยไปเมื่อเทียบกับขนาดจอที่ 15.6”
  • น้ำหนักตัวเครื่องหนักใช้ได้เลย ถ้าสัก 2.5kg ลดมาสัก 2 ขีดกำลังสวยเลย
  • USB 2.0 น่าจะใส่เพิ่มมาอีกสัก 1-2 port พื้นที่เครื่องเหลือเยอะ เพราะกว้างมากขนาดใส่คีย์บอร์ดพร้อม Numpad ได้ส่วนนี้น่าจะไม่ยากนัก
  • พื้นที่เหลือเยอะใช้ได้จริงๆ คิดว่าน่าจะมีพื้นที่ใส่ HDD ตัวที่สองได้ในตัวมาเลยก็น่าจะดี

สำหรับตลาดฝั่ง Lenovo IdeaPad นั้นแตกต่างจาก Lenovo ThinkPad อย่างชัดเจน เพราะเน้นตลาดคนใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้นำเครื่องเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยมากนัก โดยเน้นใช้งานภายในบ้าน ไป-มา ตามสถานศึกษา เหมาะสมกับกลุ่มคนที่ชีวิตใช้งานคอมพิวเตอร์เพียงพอความบันเทิงและทำงานบ้างเป็นครั้งคราวมากกว่า

จุดที่แตกต่างจาก ThinkPad หลักๆ จะคล้ายๆ กับ ThinkPad Edge Series บ้าง แต่ไม่ทั้งหมดครับได้แก่

  • รูระบายน้ำด้านล่างคีย์บอร์ดที่ไม่มี
  • ไม่มีไฟส่องคีย์บอร์ด
  • ไม่มีโครงเครื่องสุดแกร่งด้วยแมกนีเซียม Roll Cage แบบใน ThinkPad
  • บานพับไม่ใช่แบบเหล็กกล้าแบบ ThinkPad
  • ไม่ใช่ Ultrabay ทำให้ Optical Drive สลับใส่ HDD อีกลูกไม่ได้
  • มี WWAN ในบางรุ่นเท่านั้น
  • IdeaPad นั้นมีลำโพงที่ดีกว่าเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ
  • คีย์บอร์ด Layout 6 rows
  • จอภาพแบบ Glossy
  • การปิดจอภาพใช้แม่เหล็กแทน
  • มีให้เลือกหลากสีสันมากมาย
  • ไม่มี port สำหรับเชื่อมต่อ Docking

 


Tech Spec – System

 

  • CPU : Intel Core i7-2630QM (2.0 GHz, 6 MB L3 Cache, up to 2.90 GHz)
  • Chipset : Mobile Intel HM65 Express Chipset
  • VGA : nVidia GeForce GT 555M (1GB GDDR5)
  • Display : 15.6″ WXGA LED (1366×768)
  • Memory : 1 x 4GB DDR3 1,333Mhz
  • HDD : 750GB 5400rpm
  • Optical Drive : SuperMulti DVD Writer
  • Web Cam : 2.0Mpx

External Port

  • USB 2.0 : 1 port
  • USB 3.0 : 2 ports
  • D-Sub/VGA : 1 port
  • e-SATA – 1 port
  • HDMI : 1 port
  • Card reader : 6 in 1
  • Express Slot :  free 1 slot

Wireless Connection

  • Bluetooth
  • Wireless LAN Network Intel Centrino Wireless-N 1000
  • Ethernet 1 port

Input

  • Keyboard with Numpad
  • Multitouch TouchPad with Slidebar Navigation

Battery 6-Cell Li-ion

Speaker 2.0 JBL Dolby Home Theatre SRS

Warranty : 1 year

Weight : 2.7kg

Lenovo Technology : Veriface (Face Recognition Technology) and One Key Rescue System


ขอบคุณ Lenovo Thailand สำหรับ Lenovo IdeaPad Y570 ที่ให้นำมาให้เราทดสอบกันในครั้งนี้ครับ

บทความ รูปและเนื้อหานี้เป็นลิขสิทธิ์ของผู้จัดทำหากต้องการนำไปใช้งานกรุณาติดต่อผู้จัดทำเนื้อหาก่อนนำไปใช้หรือเผยแพร่

รายการเว็บด้านล่างนี้คือเว็บที่เราให้นำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อได้

  • Blognone.com
  • ThaiThinkPad.com
  • Lenovo.com

ย้ำอีกครั้ง “หากต้องการนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาติดต่อผู้จัดทำเนื้อหาก่อนนำไปใช้หรือเผยแพร่ต่อไป”

1 thought on “Review – Lenovo IdeaPad Y570”

Comments are closed.