เอา SSD ใส่ฮีตซิงค์เย็นลงเยอะแค่ไหน?

สวัสดีคนที่ยังติดตามอ่าน blog ผมอยู่ (น่าจะหายหมดแล้วมั้ง)

ไม่ได้เขียน blog มานาน 2 ปีกว่า ซึ่งปีนี้มีเรื่องให้เขียนย้อนหลังเยอะพอสมควรเลยหล่ะ แต่ตอนนี้ขอเขียนสั้น ๆ เพราะเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมประกอบคอมฯ เครื่องใหม่มาแทนคอมฯ เครื่องเดิมอายุประมาณ 5 ปี วันนี้ขอเล่าประสบการณ์ในเรื่องใส่ฮีตซิงค์ของ SSD M.2 เพิ่มหลังจากที่ผมซื้อ Lexar NM710 มาใส่เพิ่มเติม เพราะผมพบว่า SSD M.2 มันร้อนเกินไปจนความเร็วตกในบางครั้ง ผมจึงทำการทดลองเปรียบเทียบดูว่าพอใส่ฮีตซิงค์แล้วความร้อนมันสูงแค่ไหน โดยในภาพผมทดสอบให้มันทำงานที่ความเร็วสูงสุด เพื่อดูว่ามันร้อนขนาดไหนหากไม่มีฮีตซิงค์

พอรู้ว่าร้อนขนาดไหน ผมซื้อฮีตซิงค์ Lexar รุ่น LPAH100 มาใส่เพิ่มเติม เป็นฮีตซิงค์เสริมสำหรับ SSD M.2 สล็อตที่ไม่มีฮีตซิงค์มาประกอบแล้วทดสอบดูอีกรอบ

โดยจะเห็นว่าผมทดสอบด้วยความเร็วระดับสูงสุด แต่ความร้อนไม่สูงเกิน 61c ในมุมผมถือว่าลดความร้อนลงมาได้เยอะมาก ๆ และเมื่อความร้อนไม่สูงจนเกินไป ย่อมส่งผลต่อการทำงาน ยังทำให้ตัว controller บน SSD มันก็ไม่ดรอปความเร็วลงเพื่อลดความร้อนอีกด้วย

สำหรับตอนต่อ ๆ ไปจะมาเล่าเรื่องอะไร ติดตามกันได้ครับ จะพยายามมาเขียนต่อเรื่อย ๆ 👍

ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน รอบที่ 2 ครั้งนี้ดีกว่าครั้งที่แล้ว

จากตอนที่แล้ว ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ คราวนี้เปลี่ยนพัดลมมาใช้ Noctua NF-A4x10 5V PWM ที่มีชุดต่อ USB เพิ่มเติมให้ในกล่องแทน

พัดลมตัวนี้ทำงานที่ระดับความเร็วรอบสูงสุด ที่ 5,000 rpm ระดับความดัง 19.6 dBA เพราะไม่ได้ต่อผ่านตัวควบคุมความเร็ว โดยต่อผ่าน USB power adapter และตัวมันไม่มีชุดปรับความเร็วรอบพัดลมแบบของ AC Infinity

ปัญหาคือ ในการต่อพัดลมรอบก่อนหน้านั้น ผมต่อแบบด้านบนดูดลมเข้าตัวพัดลม ซึ่งผ่านตัวหน้ากากเหล็กทำให้ได้เสียงที่ดังกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จากการทดสอบพบไม่ว่าจะใช้ AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB หรือ Noctua NF-A4x10 5V PWM เสียงที่ได้หากต่อจากด้านนอกนั้นจะได้เสียงรบกวนที่มากขึ้น

แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ในระดับเสียงรบกวนของพัดลมทั้งสองตัวแบบระบายความร้อนตามปรกติไม่ได้ติดตั้งไปยังหน้ากากเหล็ก พัดลมของ AC Infinity จะมีเสียงรบกวนที่ยังคงกว่าพอสมควรอยู่ดี

คราวนี้เมื่อรู้ว่าการติดตั้งด้วยการติดจากภายนอกมันได้เสียงรบกวนที่ดังจนรับไม่ได้ ผมจึงแกะเครื่องแล้วตัดตั้งจากด้านในแทน แล้วเดินสายเชื่อมต่อสำหรับ USB ออกข้างนอก

หลังจากติดตั้งตัวชุดพัดลมตัวนี้แล้ว พัดลมตัวนี้ทำงานปล่อยเสียงรบกวนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับระดับความร้อนหลังจากติดตั้งไปแล้ว หากไม่เปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 50-52c แต่หากเปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 43-48c ซึ่งถือว่าดีกว่าตอนไม่ใส่พัดลม ที่ระดับ 75-80c หากไม่เปิดแอร์และ 60-65c เมื่อเปิดแอร์ ซึ่งกราฟก็สามารถดูได้จากด้านล่างนี้ เพราะระดับความร้อนทั้งสองช่วงนั้นไม่หนีกันมากสำหรับพัดลมทั้งสองตัวนี้

ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ

จากตัว MikroTik CRS326-24G-2S+RM ปัญหาคือมันทำความร้อนได้ 75c เวลาเปิดแอร์ในห้อง หรือระดับ 80-90c หากปิดแอร์ ซึ่งในมุมมองผมค่อนข้างสูงมาก ซึ่งตัว Network Switch ตัวนี้ เป็นรุ่นที่ไม่ได้ติดพัดลมมาให้ ถึงแม้จะมีช่องให้ใส่เพิ่มเติมได้ แต่ก็ไม่มีช่องต่อไฟเลี้ยงพัดลมในตัวแผงวงจร ตามภาพด้านล่าง

MikroTik Routers and Wireless – Products: CRS326-24G-2S+RM

ความอยากถนอมตัวอุปกรณ์นี้จึงเกิดขึ้น คือการตามหาพัดลมขนาด 40mm ที่สามารถต่อผ่าน USB ได้แทน ก็ไปเจอพัดลมที่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์คือยี่ห้อ AC Infinity รุ่น MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan

พัดลมตัวนี้เป็น 40mmx20mm ที่ต่อไฟผ่าน USB ได้ ซึ่งตัวมันรองรับการปรับระดับรอบของตัวพัดลมได้ 3 ระดับด้วย ช่วยลดเสียงรบกวนและรอบพัดลมก็จะลดลงตามระดับความดังที่ได้รับด้วย

สเปคตัวพัดลมจากผู้ผลิตระบุระดับเสียงรบกวน 18dB

เมื่อนำมาติดตั้งลงในรูปแบบที่จะไม่ต้องแกะเครื่อง ซึ่งจะทำให้ void ประกันเสียหายแบบด้านล่าง
(เพราะแม้จะใส่เข้าไปด้านในสวยงาม แต่จากภาพแผงวงจร ไม่มีช่องให้ต่อแหล่งจ่ายไฟจากที่ตัวบอร์ด PCB อยู่ดี)

จากผลการทดสอบระหว่างยังไม่มีพัดลมและมีพัดลม จะเห็นความร้อนที่เกิดจากตัวเครื่องลดลงชัดเจนมาก (ช่วง 10:00 – 10:38 เป็นช่วงเปลี่ยนใส่พัดลม)

แม้ความร้อนดีขึ้น แต่เสียงที่ได้กลับน่ารำคาญแทน พัดลมทำงานที่ความดังระดับเกือบ 70dB แม้จะเปิดใช้งานในรอบของพัดลมต่ำสุดก็ตามที 🤦‍♂️

สรุปว่าตัว AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan ไม่ผ่านในแง่สเปคในการลดเสียงรบกวน แม้จะทำงานด้านระบายความร้อนได้ดีก็ตาม คงต้องหาพัดลมตัวอื่นที่ทำงานได้เงียบกว่านี้แทน

เวลาที่เหมาะสมที่ Microsoft จะเปิดตัว Xbox ในไทย

ได้ถกประเด็นเรื่อง Microsoft เปิดทดสอบบน PC Game Pass ใน SEA แต่ไทยไม่มีเครื่อง console Xbox ขายแบบเป็นทางการสักที เพราะเอาจริงๆ อยากได้ Game Pass ที่มันไปได้บน console ด้วยเสียด้วยซ้ำ

ในมุมมองของผมนั้น คิดว่าในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ “เหมาะสมอย่างมาก” ที่ Microsoft จะนำ console Xbox “ตัวล่าสุด” เข้ามาขายในไทย ด้วยเหตุผลด้านช่องว่างที่ Sony Thai ไม่สามารถส่งมอบเครื่อง PS5 ให้กับลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และไม่แก้ไขปัญหา resale ราคาแพงได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

ไม่มีเวลาไหนเหมาะกับการเปิดตัว Xbox “ตัวล่าสุด” เท่าช่วงเวลานี้แล้วแหละ

เพราะประโยชน์ทั้งหมดไม่ใช่กับ Microsoft เองที่จะสามารถสร้าง ecosystem ให้ประสานกันลงตัวมากขึ้นในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนเล่นเกมที่ได้ประโยชน์จากการแข่งขันในตลาด console ไทยที่จะดุเดือดมากขึ้น หลังจากที่ Sony Thai ยึดตลาดไปเป็นผู้เล่นรายเดียว

มาตราฐาน MFA ใน Authenticator

มาตราฐาน MFA ที่ใช้เป็นแบบตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามเวลาเดินหน้า นั้นมีหลายมาตราฐาน แต่ที่นิยมใช้มี 2 ตัวคือ TOTP และ HOTP

  1. TOTP (TOTP: Time-Based One-Time Password Algorithm) RFC 6238
  2. HOTP (HOTP: HMAC-based one-time password) RFC 4226

โดย Google Authenticator และ Microsoft Authenticator รองรับทั้ง 2 รูปแบบ และในความเป็นจริง Authenticator ทางเลือกอีกหลาย ๆ เจ้าก็รองรับ TOTP และ HOTP กันเป็นปรกติ เพราะเป็นมาตราฐานกลางอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราสามารถใช้งานข้ามยี่ห้อกันได้

รายการแอปทางเลือกเท่าที่ทราบ

  • Authy (รองรับ sync และ backup/restore)
  • FreeOTP (opensource ไม่รองรับ backup/restore)
  • FreeOTP+ (opensource ที่ folk จาก FreeOTP เพื่อให้รองรับการ backup/restore)
  • 1Password (เสียเงิน และรองรับ field OTP)
  • LastPass (เสียเงิน และรองรับ field OTP)

จริง ๆ มีแอปอีกหลายตัวลองศึกษาเพิ่มเติมและดูความเสี่ยงกันได้ โดยดูว่ารองรับ TOTP/HOTP ตามาตราฐานหรือไม่เป็นอันดับแรก

สำหรับแอป Authenticator ควรจะรองรับการ backup/restore ได้หรือไม่ ก็ยังถกเถียงกันอยู่ต่อไป แต่ผู้ใช้งานต้องยอมรับคามเสี่ยงเพิ่มเติมในการรั่วไหลของข้อมูลเพิ่มเติมหากสำรองข้อมูลอย่าง QR code หรือ secret key ของ TOTP/HOTP ไว้เพื่อเรียกคืนค่าเดิมหากต้องเปลี่ยนโทรศัพท์แล้วเจน TOTP ใน Authenticator ใหม่

วิธีที่ผู้ให้บริการมีเป็นทางเลือกคือ backup code ตัวนี้เป็นท่าพื้นฐาน เราก็เอา backup code การบันทึกเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และหวังว่าจะไม่ลืมหรือโดนขโมย ซึ่งวิธีนี้แม้จะคล้ายกับการเก็บ QR code หรือ secret key ในข้างต้น แต่แตกต่างตรง backup code ที่ได้ จะใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมื่อใช้ไปแล้ว code ที่เราเลือกใช้ จะใช้ซ้ำอีกไม่ได้ และหากรั่วไหลสามารถขอสร้างใหม่ได้ง่ายกว่ามาก

อีกวิธีก็คือใช้ Security Key เป็นอุปกรณ์อีกตัว มันสามารถเก็บ TOTP/HOTP และเป็น FIDO U2F แทนก็ได้ เพราะปรกติการเปิดใช้งาน MFA มักจะมีทางเลือกให้อย่างน้อย 2 ทางในการใช้งาน MFA อยู่เสมอ หรือถ้ายินยอมรับความเสี่ยงที่จะใช้ตัวเดียวก็จะแจ้งเตือนไว้

หมายเหตุ แม้จะยังมีตัวเลือกให้รับ OTP ผ่านมือถือเป็นทางเลือกสำรอง แต่ในระยะหลัง ก็เริ่มไม่ปลอดภัย และหลายบริการก็แจ้งเตือนความเสี่ยงไว้แล้ว